คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอแยกสินบริคณห์ในชั้นบังคับคดีเพื่อดำเนินการไปตามคำพิพากษานั้น ทำเป็นคำร้องต่อศาลได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นใหม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 มิได้บังคับไว้โดยชัดแจ้งว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่เพื่อขอให้แยกสินบริคณห์เสียก่อน
ศาลฎีกามีอำนาจย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาที่ยังไม่ได้วินิจฉัยใหม่ได้

ย่อยาว

กรณีนี้เดิมศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงเงินนางจรัสศรีแต่รอการลงโทษไว้และให้จำเลยใช้เงินแก่นางจรัสศรีผู้เสียหาย 4,000 บาท คดีถึงที่สุด แต่จำเลยไม่ชำระเงิน ผู้เสียหายจึงร้องขอให้ศาลบังคับคดียึดโฉนดที่ 6256 และเรือนโดยอ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายจิตรสามี ศาลอาญาสั่งยึดให้ตามขอ ต่อมาผู้เสียหายร้องขอให้ศาลแก้เลขโฉนดที่ศาลออกหมายบังคับผิดไปศาลสั่งให้ผู้เสียหายร้องขอแยกสินบริคณห์เป็นส่วนของจำเลยเสียก่อนผู้เสียหายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแยกสินบริคณห์ที่ดินโฉนดที่ 6256 ออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ศาลสั่งออกหมายบังคับคดีและแจ้งในหมายว่าผู้เสียหายได้ร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 ผู้เสียหายได้นำเจ้าพนักงานกองหมายยึดตามคำสั่งศาล

นายจิตรสามีร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินนั้นเป็นสินเดิมหาใช่ของจำเลยไม่ แม้จะฟังว่าเป็นสินสมรสก็ยังเป็นสินบริคณห์ที่โจทก์นำยึดไม่ได้ ขอให้ศาลถอนการยึด

ผู้เสียหายยืนยันว่าเป็นสินสมรสและได้ขอแยกสินบริคณห์แล้ว จึงมีอำนาจทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483

ศาลอาญาฟังว่าที่ดินมีชื่อนายจิตรสามีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยใช้เงินสินเดิม 1,200 บาท ซื้อ แต่ได้ซื้อเมื่อได้จำเลยแล้ว จึงเป็นสินสมรส เจ้าหนี้อาจขอต่อศาลให้แยกออกเป็นส่วนของลูกหนี้เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ได้สุทธิเท่าใดให้ชักออกให้ผู้ร้อง 1,200 บาทก่อน เพื่อใช่ส่วนที่เป็นสินเดิม เหลือจากนั้นแบ่งเป็นสามส่วน เป็นของจำเลย 1 ส่วนเอาชำระให้แก่ผู้เสียหาย

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าผู้เสียหายไม่มีอำนาจยึดสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องและจำเลย เจ้าหนี้ต้องขอแยกสินบริคณห์เสียก่อน ในเรื่องนี้ผู้เสียหายร้องขอแยกสินบริคณห์มาฝ่ายเดียวโดยผู้ร้องมิได้รับรู้ด้วย แม้ศาลจะสั่งแยกก็ไม่เป็นการชอบ ศาลอาญาไม่มีอำนาจสั่งแยกสินบริคณห์ เป็นหน้าที่ศาลแพ่ง และยืนยันว่าที่ดินนี้เป็นสินเดิม

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนี้สินรายนี้เป็นหนี้สินส่วนตัวของจำเลยผู้ร้องไม่ต้องรับผิด ผู้เสียหายต้องร้องขอแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 ก่อนจึงจะยึดได้ และการร้องขอแยกเป็นกรณีมีข้อพิพาท ผู้ร้องต้องแจ้งคดีเพื่อให้สามีหรือภริยาที่จะต้องเสียสิทธิเข้ามาแก้คดีได้เต็มที่จะยื่นแต่คำร้องเท่านั้นไม่ได้ พิพากษากลับให้ถอนการยึด

ผู้เสียหายฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นนี้เป็นเรื่องการบังคับคดีเพื่อดำเนินการไปตามคำพิพากษา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 มิได้บังคับไว้โดยแจ้งชัดว่า เจ้าหนี้จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่เพื่อขอให้แยกสินบริคณห์เสียก่อน ดังนั้น เจ้าหนี้อาจร้องขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องก็ได้ ข้อที่ว่าการร้องขอแยกสินบริคณห์โดยคำร้องเช่นนี้ เมื่อสินบริคณห์ถูกยึดมาแล้ว ผู้ร้องก็อาจร้องขัดทรัพย์เข้ามาได้ดังเช่นที่ได้กระทำมาในคดีนี้ จึงไม่เป็นการตัดโอกาสผู้ร้องที่จะโต้แย้งอย่างไร อนึ่ง สินบริคณห์อันเป็นส่วนของจำเลยที่จะนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายนั้นมีเท่าไรศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ย้อนสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาที่ยังค้างอยู่นั้นก่อน

Share