คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สถานบริการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะสถานประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ใช้สถานที่ในการให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ และเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กำหนดเพียงลักษณะของบริการที่อยู่ในความหมายของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียงหรือแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงเท่านั้น มิได้กำหนดว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับเต้นรำ และมิได้กำหนดประเภทของสถานบริการและนิยามคำว่า “เต้น” กับ “เต้นรำ” ดังเช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 (4) มีเจตนารมณ์เพื่อลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตและรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เยาวชนตื่นตัวสนใจศิลปะที่ละเอียดอ่อน และเพื่อให้การแสดงดนตรีกระทำได้โดยสะดวก แต่ทางราชการยังสามารถควบคุมได้ ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สถานประกอบกิจการของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ ประเภทที่ 09.01 ลักษณะเช่นเดียวกับไนท์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือที่ กค.0606/171 การประเมินภาษีสรรพสามิตจำนวน 3,688,885.47 บาท ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิตของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ 2/2555 ลงวันที่ 30 กันยายน 2555
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ใช้ชื่อว่า “ตะวันแดงสาดแสงเดือน” ต่อมาโจทก์แจ้งต่อสรรพสามิตพื้นที่อุบลราชธานีว่า ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 และคาดว่าจะเปิดให้บริการวันที่ 15 เมษายน 2549 พร้อมทั้งขอเปลี่ยนชื่อสถานบริการว่า “ตะวันแดงสาดแสงเดือน (มหาชน) อุบลราชธานี” จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งเตือนให้โจทก์ยื่นแบบรายการภาษี ชำระภาษีสรรพสามิตและส่งเอกสารเพิ่ม กรณีขอใบอนุญาตขายสุราและยาสูบประเภทที่ 3 โจทก์มีหนังสือแจ้งยกเลิกหรือไม่ยื่นจดทะเบียนสรรพสามิตต่อจำเลยว่า โจทก์มิได้เป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (1) ที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิต จำเลยมีหนังสือที่ กค. 0606.0801/164 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 แจ้งเตือนให้ยื่นแบบรายการครั้งที่ 2 โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานของจำเลยจึงประเมินภาษีสรรพสามิตว่า สถานบริการของโจทก์จัดให้มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการลูกค้าเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ จัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง มีเจตนาหรือยินยอมให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเป็นปกติวิสัย มีลักษณะเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กิจการบันเทิงและหย่อนใจ ประเภท 09.01 ไนท์คลับและดิสโกเธค โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมชำระภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2551 เป็นเงินภาษีสรรพสามิต เบี้ยปรับ และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย 3,277,155.52 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ประกอบกิจการสถานบริการโดยมิได้มีเจตนาให้มีการเต้นรำ จัดพื้นที่ให้เต้นรำ หรือพื้นที่ในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการแสดงออกของผู้ใช้บริการเอง โจทก์ประกอบกิจการสถานบริการตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มิได้เป็นสถานบริการประเภทไนท์คลับและดิสโกเธค มิใช่สถานบริการที่มีสถานที่เต้นรำตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (1) ประกอบพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ประเภทที่ 09.01 แต่อย่างใด และตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักเกณฑ์แยกสถานบริการประเภทไนท์คลับและดิสโกเธคไว้ในมาตรา 3 (1) ต่างหากชัดเจน และการเต้นหรือยินยอมให้เต้นในสถานบริการตามมาตรา 3 (4) มิใช่การเต้นรำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 (1) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 กำหนดรายการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 9 “กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ” หมายความว่า การประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่างๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ เช่น สถานมหรสพ สถานที่ฉายภาพยนตร์ ไนท์คลับ คาบาเรต์ ดิสโกเธค เป็นต้น โดยกิจการไนท์คลับและดิสโกเธค จัดอยู่ประเภทที่ 09.01 กำหนดให้เสียภาษีร้อยละ 20 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 ได้ลดอัตราสำหรับบริการไนท์คลับและดิสโกเธคกำหนดให้จัดเก็บจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียง หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงในอัตรามูลค่าร้อยละ 10 แต่ไม่ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “ไนท์คลับ” และ “ดิสโกเธค” ไว้ จึงต้องหาความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งให้นิยามคำว่า “ไนต์คลับ” หมายถึง สถานเริงรมย์ที่เปิดเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย แต่พจนานุกรมฉบับดังกล่าวไม่ได้นิยามคำว่า “ดิสโกเธค” ไว้ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ว่า สถานบริการของโจทก์เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในอาคารจัดให้มีเวทีสำหรับการแสดงดนตรี แสง สี เสียงประกอบ ต่อจากหน้าเวทีดนตรีจะเป็นที่สำหรับตั้งโต๊ะอาหารและเก้าอี้สำหรับให้ผู้มาใช้บริการ ไม่มีลานหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ มีบริการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ ผู้มาใช้บริการจะสนุกสนานกับเสียงเพลง หรือมีการเต้นข้างโต๊ะอาหารขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของผู้ใช้บริการและจำเลยมีนางสาวอุลัยวัน เจ้าพนักงานผู้พิจารณาคำคัดค้านการประเมินภาษี มาเบิกความว่า สถานบริการของโจทก์เป็นสถานบริการด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ มีการจำหน่ายสุรา อาหารเครื่องดื่ม โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียง และมีการเต้นรำหรือเต้นหรือยอมให้มีการเต้นกัน แม้ไม่จัดที่เต้นรำไว้ชัดแจ้ง แต่ก็ปรากฏว่ามีการเต้นรำกันเป็นปกติวิสัยในสถานบริการของโจทก์ โดยจำเลยมีนายอนุวัฒน์กับนายเดชา เบิกความทำนองเดียวกันว่า สถานบริการของโจทก์มีการจำหน่ายสุรา อาหารเครื่องดื่ม และมีการแสดงดนตรี ผู้ใช้บริการออกมาเต้นได้บริเวณโต๊ะที่นั่งและพื้นที่ว่างทั่วไป และมีการเปิดไฟสีต่าง ๆ กระพริบในขณะเดียวกัน บรรยากาศมิใช่ร้านอาหารที่ลูกค้ามุ่งเข้าไปเพื่อรับประทานอาหารและฟังดนตรีอย่างเดียว แต่มีบรรยากาศเช่นเดียวกับสถานบันเทิงดิสโกเธคที่ลูกค้าต้องการเข้ามาดื่มและเต้นตามจังหวะเพลง ดังนี้ แม้สถานบริการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะสถานประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ใช้สถานที่ในการให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่ม และจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่างๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ และเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน อีกทั้งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กำหนดเพียงลักษณะของบริการที่อยู่ในความหมายของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยกำหนด ให้จัดเก็บภาษีจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียงหรือแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงเท่านั้น มิได้กำหนดว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับเต้นรำ และมิได้กำหนดประเภทของสถานบริการและนิยามคำว่า “เต้น” กับ “เต้นรำ” ดังเช่นพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 (4) มีเจตนารมณ์เพื่อลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสุจริต และรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เยาวชนตื่นตัวสนใจศิลปะที่ละเอียดอ่อน แต่ทางราชการยังสามารถควบคุมได้ ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า “สถานบริการ” ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาดังที่โจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สถานประกอบกิจการของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจประเภทที่ 09.01 ลักษณะเช่นเดียวกับไนท์คลับและดิสโกเธค ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า สถานบริการของโจทก์เป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (4) ซึ่งสถานบริการประเภทนี้มีลักษณะการเต้นหรือยอมให้มีการเต้นหรือจัดให้มีการเต้น และไม่มีพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศแตกต่างจากสถานบริการตามมาตรา 3 (1) โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตจึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า คดีนี้เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2552 ที่วินิจฉัยนิยามคำว่า “เต้นรำ” และ “ลีลาส” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เมื่อสถานบริการของโจทก์ไม่มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำหรือลีลาศ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต นั้น คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นคดีอาญามีประเด็นว่าจำเลยมีความผิดข้อหาจัดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ แตกต่างจากคดีนี้ซึ่งมีประเด็นว่าโจทก์ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 หรือไม่ อันมีประเด็นพิพาทแตกต่างกันและใช้บังคับกฎหมายคนละฉบับ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share