แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายจากการขาดรายได้ 8,000,000 บาท ค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียง 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน ให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราเดิมก่อนถูกเลิกจ้างและให้จ่ายค่าเสียหายเดือนละ 69,768 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 (ส่วนของนายจ้าง) จำนวน 623,700.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าที่โจทก์เคยได้รับในขณะเลิกจ้าง ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 (ส่วนของนายจ้าง) จำนวน 623,700.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งนักข่าว โจทก์มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าข่าวประจำสายข่าวความมั่นคงและอาชญากรรมประจำกองบรรณาธิการข่าว (โต๊ะข่าว) การเมืองทั่วไปของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 โจทก์เสนอข่าวต่อที่ประชุมข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ มีสาระสำคัญว่า “นายกรัฐมนตรีได้ให้ทีมช่างเทคนิคจากสหรัฐอเมริกามาตรวจสอบปัญหารันเวย์ (runway) ของสนามบินสุวรรณภูมิ ผลการตรวจสอบพบว่ามีรอยแตกร้าวบนรันเวย์อันจะเป็นอันตรายเมื่อเครื่องบินลงจอด และต้องมีการปรับปรุงรันเวย์ใหม่ ซึ่งทีมช่างเทคนิคจะทำรายงานในเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี” โดยแจ้งให้ที่ประชุมข่าวทราบ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์พิจารณาแล้วนำข่าวลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2548 ในวันที่ 8 สิงหาคม 2549 โจทก์แจ้งต่อที่ประชุมข่าวในวันนี้ว่า “แหล่งข่าวได้โทรศัพท์หาโจทก์แจ้งให้ทราบว่าแหล่งข่าวมีรายงานของผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ไปตรวจสอบรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิอยู่โดยรายงานระบุว่ามีรอยร้าวบนรันเวย์แต่แหล่งข่าวไม่อาจให้โจทก์ดูหรืออ่านรายงานดังกล่าวให้ฟังได้เพราะต้องให้นายกรัฐมนตรีดูก่อน รอยร้าวที่ทางการพาผู้สื่อข่าวไปดูเมื่อวันอาทิตย์เป็นคนละจุดกับรอยร้าวที่แหล่งข่าวโจทก์แจ้งมา โจทก์ยืนยันต่อว่าแหล่งข่าวของโจทก์เชื่อถือได้และมั่นใจว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์พิจารณานำข่าวดังกล่าวลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2548 ภายหลังตีพิมพ์ข่าวจำเลยที่ 1 ตัดสินใจลงถอนข่าวในวันรุ่งขึ้น (10 สิงหาคม 2548) จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานการพิมพ์มีคำสั่งให้ลงข่าวแก้ไขข้อเท็จจริงและถูกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ฟ้องคดีอาญา ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายให้โจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้นำเสนอข่าวเข้าสู่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจให้มีการลงตีพิมพ์ข่าว การที่จะลงตีพิมพ์ข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์อยู่ในอำนาจของกองบรรณาธิการ แม้ข่าวที่โจทก์นำเสนอมีลักษณะเป็นการเตือนภัยสาธารณะให้สังคมได้รับทราบ แต่ข่าวที่โจทก์เสนอว่าพบรอยร้าวของรันเวย์บริเวณจุดที่ล้อเครื่องบินลงสัมผัสพื้นรันเวย์ในขณะลงจอด ต้องรื้อและสร้างรันเวย์ใหม่นั้น อาจสร้างความตื่นตระหนกต่อสาธารณชน และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือตลอดจนชื่อเสียงของประเทศโดยส่วนรวมได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานะของโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าข่าวด้านความมั่นคง การเมือง และอาชญากรรม มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มาเป็นเวลานานกว่า 22 ปี แต่การที่โจทก์ได้ข้อมูลในมิติด้านเดียวจากแหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียว แล้วเสนอเข้าที่ประชุมข่าวในวันที่ 5 สิงหาคม 2548 นับได้ว่าการเสนอข่าวในคราวดังกล่าวเป็นการเสนอข่าวที่ยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน แม้ภายหลังที่โจทก์เสนอข่าวเข้าที่ประชุมข่าวแล้ว โจทก์พยายามเสาะแสวงหาแหล่งข่าวแหล่งที่สองซึ่งก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มเติม และเป็นการแสวงหาแหล่งข่าวแหล่งที่สองภายหลังจากที่มีการเสนอข่าวเข้าที่ประชุมข่าวแล้ว โดยเฉพาะภายหลังเสนอข่าวต่อที่ประชุมข่าวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 แล้วโจทก์มีเวลาตรวจสอบข่าวอีก 3 วัน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมข่าวในวันที่ 8 สิงหาคม 2548 ทั้งในวันที่ 7 และ 8 สิงหาคม 2548 ทางราชการเปิดโอกาสให้นักข่าวเข้าไปตรวจสอบ โจทก์ก็ไม่ลงพื้นที่หรือมอบให้นักข่าวใต้บังคับบัญชาไปร่วมตรวจสอบ เมื่อข่าวยังไม่มีความชัดเจน โจทก์ควรชะลอการนำเสนอข่าวเข้าสู่ที่ประชุมข่าว แต่กลับเสนอข่าวเข้าสู่ที่ประชุมข่าวในวันที่ 8 สิงหาคม 2548 อีก โดยมีเนื้อหาสาระที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม จึงนับได้ว่าการเสนอข่าวของโจทก์ยังไม่ได้สัดส่วนกับสถานะตำแหน่งของโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 1 มีขั้นตอนและธรรมเนียมการปฏิบัติตลอดจนวัฒนธรรมการทำงานโดยยอมรับการนำเสนอข่าวในแบบเฉพาะส่วนเข้าสู่ที่ประชุมข่าวเพื่อให้กองบรรณาธิการเป็นผู้กลั่นกรองและบริหารข่าวที่เสนอเข้ามาโดยประมวลหรือบูรณาการรับข่าวที่ได้มาจากแหล่งอื่น ๆ แล้วตัดสินใจเลือกนำตีพิมพ์ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 1 ยอมรับการเสนอข่าวเฉพาะส่วนของนักข่าวเข้าสู่ที่ประชุมข่าวแล้ว ทางปฏิบัติที่ผ่านมาของจำเลยที่ 1 นักข่าวไม่จำต้องรับผิดชอบต่อการทำและนำเสนอข่าวในกรณีที่ข่าวที่เสนอยังขาดความสมบูรณ์ครอบคลุมรอบด้านด้วย เมื่อที่ประชุมข่าวไม่ได้มอบหมายหน้าที่ให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมหมายความว่าผู้บริหารข่าวหรือผู้รับผิดชอบต่อข่าวนี้ยังคงเป็นหน้าที่ของที่ประชุมข่าวของกองบรรณาธิการจำเลยที่ 1 อยู่ ไม่ใช่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเพียงผู้เสนอข่าวที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจให้มีการลงตีพิมพ์ การที่จะลงตีพิมพ์หรือไม่เป็นอำนาจของกองบรรณาธิการแล้ว ดังนั้นถ้าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็คงเป็นผลโดยตรงจากการตัดสินใจลงตีพิมพ์ของกองบรรณาธิการที่วิเคราะห์และให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของข่าวผิดพลาด หาได้เกิดจากการนำเสนอข่าวของโจทก์ไม่ ดังนั้นหากการทำข่าวของโจทก์ไม่ครอบคลุมรอบด้าน ก็เป็นเรื่องความสามารถของนักข่าวแต่ละคนซึ่งมีไม่เท่ากันหรือมีความถนัดแตกต่างกัน ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ต้องลงถอนข่าวและขออภัยผู้อ่านนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ด่วนตัดสินใจลงถอนข่าวไปโดยไม่พิสูจน์ความจริงก่อนว่าเป็นเช่นไร หากการลงถอนข่าวมีผลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก็เป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวของโจทก์ นอกจากจะทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว ยังมีผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สำหรับคำสั่งของนายสุทธิเกียรติตามบันทึกพบว่าเป็นคำสั่งที่นายสุทธิเกียรติมีถึงผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 โดยระบุชื่อลูกจ้างระดับผู้อำนวยการฝ่ายซึ่งเป็นบุคคลผู้รับคำสั่งไว้เฉพาะเจาะจง ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าให้ลูกจ้างในระดับผู้อำนวยการฝ่ายนำคำสั่งไปแจ้งหรือถ่ายทอดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบและยึดถือปฏิบัติด้วย แม้ว่าจะมีการนำคำสั่งไปปิดประกาศไว้ที่บอร์ดประกาศข่าวของกองบรรณาธิการ แต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวระบุเจาะจงตัวผู้รับคำสั่งชัดเจนว่าเป็นคำสั่งที่มีถึงลูกจ้างในระดับผู้อำนวยฝ่าย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแทงสั่งจากผู้อำนวยการฝ่ายที่เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ลงมาเพื่อเวียนให้ลูกจ้างคนอื่นหรือโจทก์ทราบหรือถือปฏิบัติ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าคำสั่งของนายสุทธิเกียรติมีผลผูกพันใช้บังคับกับโจทก์ด้วย เมื่อในคดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์ได้รายงานข่าวที่ได้จากแหล่งข่าวตามความจริงที่ตนเองได้รับทราบมาต่อที่ประชุมข่าวแล้ว โจทก์ก็ได้พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยขอให้นางยุวดี นักข่าวสายทำเนียบตรวจสอบข้อมูลกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นแหล่งข่าวของโจทก์อีกแหล่งหนึ่งเพื่อตรวจสอบข่าว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้พยายามค้นหาความจริงในระดับหนึ่งแล้ว กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ได้ค้นหาความจริงและรายงานความจริงให้ทราบ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนนโยบายร่วมของกองบรรณาธิการแต่อย่างใด เมื่อคำสั่งลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 ของนายสุทธิเกียรติ กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันบังคับใช้กับโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนนโยบายร่วมของกองบรรณาธิการแล้ว จึงไม่มีกรณีที่เป็นการละเลยคำสั่งของหัวหน้างานหรือกระทำการอื่น ๆ อันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง สุจริต อันจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทำให้โจทก์เสียหายและจำกัดสิทธิโจทก์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โดยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548 และพิเคราะห์เหตุเลิกจ้างที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทน โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โดยคำนึงถึงอายุของโจทก์ขณะเลิกจ้างที่มีอายุ 51 ปี ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ที่มีอายุงาน 22 ปี มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง ความเดือดร้อนของโจทก์ เมื่อถูกเลิกจ้าง และค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทน โดยให้ศาลแรงงานพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายตามนัยที่กล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง