คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14560/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 6/2548 เพื่อระงับการทำหน้าที่ของ ช. ในฐานะผู้อำนวยการจำเลย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 มาตรา 13 บัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย และมาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลย ดังนั้นอำนาจในการบริหารกิจการของจำเลยจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ซึ่งต้องกระทำและมีมติในรูปแบบของคณะกรรมการ การที่ ป. ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมีคำสั่งที่ 6/2548 ให้ ช. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมิได้มีมติในวันดังกล่าว คำสั่งจึงยังคงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ชอบด้วยมาตรา 15 ของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ทั้งตามเอกสารคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้มีมติให้สัตยาบันในวันที่ 19 กันยายน 2548 ดังนั้น ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ช. ยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยและยังมีอำนาจในการแก้ไขคำสั่งของตนเองได้ เมื่อ ช. สั่งให้โจทก์แก้ไขคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 เรื่องสำนักอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคตะวันออก ขอเลื่อนระดับพนักงานและเลื่อนชั้นพนักงานปฏิบัติการ เป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก โจทก์จึงต้องแก้ไขคำสั่งตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยการทำงานตามข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2548 การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เป็นการไม่ชอบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของโจทก์ไม่ได้กระทำด้วยวิธีการขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์แก้ไขคำสั่งโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือหากได้รับคำสั่งก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเท่านั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 202/2549 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2549 เรื่องลงโทษทางวินัยผู้ปฏิบัติงาน อ.อ.ป. และคำสั่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 104/2550 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 เรื่องผลการพิจารณาอุทธรณ์กรณีการแก้ไขคำสั่ง อ.อ.ป. ที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งหมด และให้จำเลยคืนเงินเดือนที่หักไปจากโจทก์จำนวน 49,716 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้แก้ไขทะเบียนประวัติโจทก์ให้ถูกต้อง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 202/2549 เรื่องลงโทษทางวินัยผู้ปฏิบัติงาน อ.อ.ป. ฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2549 และคำสั่งที่ 104/2550 เรื่องผลการพิจารณาอุทธรณ์กรณีการแก้ไขคำสั่ง อ.อ.ป.ที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งหมดและให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จำนวน 49,716 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2550) และให้แก้ไขทะเบียนประวัติของโจทก์ให้ถูกต้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ (ระดับ 8) สำนักงานอำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารและงานอำนวยการ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 โจทก์ได้สั่งให้นายวิรัตน์ผู้ใต้บังคับบัญชา เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสมุดทะเบียนคุมคำสั่ง ซึ่งขณะนั้นมีคำสั่งจำนวน 2 เรื่อง ออกเลขที่คำสั่งไว้แล้วคือ คำสั่งที่ 197/2548 และคำสั่งที่ 198/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 แต่ได้มีการนำคำสั่งเรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก ซึ่งนายชนัตรได้ลงนามในตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลย สั่ง ณ วันที่ 14 กันยายน 2548 ไปแทนที่ในคำสั่งที่ 197/2548 โดยลบข้อความในช่องวันที่เดิมและเรื่องเดิมออกไป ทำให้คำสั่งที่ 197/2548 และที่ 198/2548 เดิม ต้องร่นถัดขึ้นไปเป็นลำดับที่ 198 และที่ 199 แก้ไขวันที่เดิมจากวันที่ 15 เป็นวันที่ 14 กันยายน 2548 ดังปรากฏตามสมุดทะเบียนคุมคำสั่ง คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพิจารณาแล้วมีมติว่า โจทก์เป็นผู้สั่งการให้มีการแก้ไขคำสั่งต่าง ๆ โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือหากได้รับคำสั่ง คำสั่งนั้นก็เป็นคำสั่งที่มิชอบ เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับ ข้อ 6 (4) (6) (7) และ (10) ทำให้จำเลยเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคี แต่ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาโจทก์ไม่เคยกระทำผิดทางวินัยมาก่อน สมควรลงโทษทางวินัยโดยตัดเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 6 เดือน ปรากฏตามคำสั่งจำเลยที่ 202/2549 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2549 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นว่า ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ก่อนที่นายชนัตรจะออกเดินทางไปราชการที่จังหวัดตากได้เข้าไปปฏิบัติงานที่สำนักงานโดยได้มีการลงนามในหนังสือออกและบันทึกสั่งการรวม 11 ฉบับ ดังนั้นการที่โจทก์อ้างว่านายชนัตรเรียกไปพบที่ห้องทำงานเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันดังกล่าว จึงมิได้เป็นการกล่าวเท็จแต่อย่างใด ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริตโทษพนักงานและพนักงานปฏิบัติการประจำองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ก.พ.อ.) มีความเห็นว่า นายชนัตรเพิ่งลงนามในคำสั่งฉบับพิพาทในวันที่ 15 กันยายน 2548 และมอบให้โจทก์ในเวลา 16 นาฬิกา ไปจัดการแก้ไขสมุดทะเบียนคุมคำสั่งโดยให้ทำเป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เป็นเหตุให้ต้องแก้ไขคำสั่งที่ 198/2548 และคำสั่งที่ 199/2548 ด้วย ดังที่ปรากฏในสมุดทะเบียนคุมคำสั่งซึ่งคณะกรรมการ ก.พ.อ. เชื่อว่า มูลเหตุจูงใจน่าจะมาจากการที่ได้มีคำสั่งคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยที่ 6/2548 และคำสั่งที่ 7/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 ให้ระงับการรับผิดชอบงานในหน้าที่ผู้อำนวยการจำเลยของนายชนัตรและให้นายอำนาจเป็นผู้รักษาการแทน จึงต้องแก้ไขคำสั่งและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อแสดงว่าคำสั่งต่าง ๆ ได้ออกขณะที่นายชนัตรยังมีอำนาจอยู่ การแก้ไขจึงเป็นการสั่งการให้แก้ไขเอกสารที่แท้จริงให้มีข้อความผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามด้วยการสั่งให้นายวิรัตน์ดำเนินการตามที่นายชนัตรสั่งการ การกระทำของโจทก์จึงมีพิรุธและไม่ถูกต้อง การแก้ไขเอกสารเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ยกเลิกไปก็ไม่ทำให้พ้นความรับผิดไปได้ จึงให้ยืนโทษทางวินัยตามคำสั่งจำเลยที่ 104/2550 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 แล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงอีกว่า นายชนัตรได้ลงนามในคำสั่งที่ 197/2558 ในวันที่ 14 กันยายน 2548 เวลา 16 นาฬิกา แต่เมื่อได้ตรวจสอบสมุดทะเบียนคุมคำสั่งแล้วพบว่ามีความคลาดเคลื่อนในการออกเลขที่คำสั่ง โจทก์จึงแก้ไขเลขที่ในสมุดทะเบียนคุมคำสั่งให้ตรงกับวันที่ออกคำสั่งตามความเป็นจริง โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดวินัยการทำงาน
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า กิจการของจำเลยมีปัญหา ดังนั้นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มีคำสั่งที่ 6/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 และคำสั่งที่ 7/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 แต่งตั้งให้นายอำนาจ เป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลย ซึ่งต่อมาคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้มีมติให้สัตยาบันคำสั่งทั้งสองฉบับในวันที่ 19 กันยายน 2548 คำสั่งจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง ดังนั้นการที่นายชนัตรสั่งให้โจทก์แก้ไขคำสั่งจากคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 เรื่องสำนักอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคตะวันออก ขอเลื่อนระดับพนักงานและเลื่อนชั้นพนักงานปฏิบัติการ เป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักซึ่งเป็นการกระทำมีพิรุธและไม่ปฏิบัติตามวิธีการแก้ไขคำสั่งของจำเลยให้ถูกต้องนั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 6/2548 เพื่อระงับการทำหน้าที่ของนายชนัตรในฐานะผู้อำนวยการจำเลย เมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 มาตรา 13 บัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย และมาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลย ดังนั้นอำนาจในการบริหารกิจการของจำเลยจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งต้องกระทำและมีมติในรูปแบบของคณะกรรมการ การที่นายปีติพงศ์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 6/2548 ให้นายชนัตรระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมิได้มีมติในวันดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงยังคงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ชอบด้วยมาตรา 15 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทั้งคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้มีมติให้สัตยาบันในวันที่ 19 กันยายน 2548 ดังนั้น ในวันที่ 15 กันยายน 2548 นายชนัตรจึงยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยและยังมีอำนาจในการแก้ไขคำสั่งของตนเองได้ เมื่อนายชนัตรได้สั่งให้โจทก์แก้ไขคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 เรื่องสำนักอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคตะวันออก ขอเลื่อนระดับพนักงานและเลื่อนชั้นพนักงานปฏิบัติการ เป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก โจทก์จึงต้องแก้ไขคำสั่งตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดวินัยการทำงานตามข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2548 การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของโจทก์ไม่ได้กระทำด้วยวิธีการขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับจึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อคดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์แก้ไขคำสั่งโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือหากได้รับคำสั่งก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share