แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอให้คุ้มครองก่อนพิพากษานั้น ศาลอาจสั่งให้ยึดหรืออายัติได้ทั้งสองอย่าง
เมื่อศาลสั่งยึดทรัพย์แล้วย่อมครอบถึงดอกผลนิตินัยด้วย เช่น ค่าเช่าเป็นต้น
เมื่อศาลสั่งยึดทรัพย์แล้วศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้เช่าส่งค่าเช่าให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวนอีก
คำสั่งของศาลที่ใช้ทรัพย์ทั้งหมดมาอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมเป็นเรื่องยึดทรัพย์ ถ้าห้ามมิให้คนภายนอกทำการโอน, หรือชำระหนี้ ก็เป็นการอายัติ
เมื่อลักษณะของคำสั่งเป็นกรณีเรื่องใดแล้ว แม้จะเรียกชื่อคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่สำคัญ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมฤดกและยื่นคำร้องขออายัติทรัพย์มฤดกที่อยู่ในมือจำเลยทั้งหมดมาไว้ในความรักษาของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีไต่ส่วนแล้ว อนุญาตให้อายัติตามขอ
จำเลยอุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ปรากฎว่า อายัติค่าเช่า และการอายัติค่าเช่าไม่เคยมีการไต่สวนแต่ศาลออกหมายอายัติถึงผู้เช่า จึงให้เพิกถอนหมายนี้
โจทก์ฎีกา,
ศาลโจทก์ฟังว่า ศาลชั้นต้นสั่งว่าให้อายัติทรัพย์มฤดกตามโจทก์ฟ้องตามบัญชีท้ายฟ้องและตกอยู่ในมือจำเลยทั้งหมดไว้ในความรักษาของเจ้าพนักงานบังคับคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงส่งบัญชีรายชื่อผู้เช่าห้องแถวมฤดกที่ถูกยึด ศาลได้ออกหมายอายัติไปยังผู้เช่า ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นลักษณะของการยึด คือเอาทรัพย์มาไว้ในความดูแลรักษาของเจ้าพนักงานส่วนการอายัติเป็นเรื่องสั่งบุคคลภายนอกมิให้ทำการโอนหรือชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในคดีการยึดทรัพย์ก่อนคำพิพากษา ป.ม.วิ.แพ่ง ม.๒๕๔ ก็ให้ทำได้ทั้งยึดและอายัติ การยึดย่อมครอบครองถึงอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย ไม่จำต้องไต่สวนเรื่องค่าเช่าอีก แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่า ยึดทรัพย์หรืออายัติคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ไม่สำคัญ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น