แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตัดผลปาล์มของผู้เสียหายจนหล่นลงมากองอยู่บนพื้นเป็นการแยกหรือเคลื่อนที่ผลปาล์มออกจากต้น แต่ยังไม่ทันรวบรวมผลปาล์ม ผู้เสียหายก็มาพบเสียก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ายึดถือเอาผลปาล์มจำนวนนั้นไว้แล้วอันเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นความผิดฐานพยายามร่วมกันลักทรัพย์เท่านั้น และถือเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 334, 335
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ดูแลสวนปาล์มน้ำมันให้ผู้เสียหาย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง ผู้เสียหายและดาบตำรวจนิพนธ์เดินเข้าไปในสวนปาล์มน้ำมันที่เกิดเหตุได้ยินเสียงผลปาล์มตกลงพื้นและมีเสียงคนคุยกันจึงแอบซุ่มดู เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายสงบกำลังตัดผลปาล์ม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นผู้เสียหายกับดาบตำรวจนิพนธ์ก็วิ่งหลบหนีไปทันที ดาบตำรวจนิพนธ์จับกุมจำเลยที่ 1 ไว้ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อันได้มาจากการกสิกรรม ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อันได้มาจากการกสิกรรมตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตัดผลปาล์มหลุดออกจากต้นมาอยู่บนพื้นแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้แย่งการครอบครองจากเจ้าของทรัพย์ จึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตัดผลปาล์มของผู้เสียหายจนหล่นลงมากองอยู่บนพื้น เป็นการแยกหรือเคลื่อนที่ผลปาล์มออกจากต้น แต่ยังไม่ทันได้รวบรวมผลปาล์ม ผู้เสียหายก็มาพบเสียก่อนเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ายึดถือเอาผลปาล์มจำนวนนั้นไว้แล้ว อันเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นความผิดฐานพยายามร่วมกันลักทรัพย์เท่านั้นและถือเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปลักตัดผลปาล์มน้ำมันในที่เกิดเหตุ ก็ต้องยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 แต่ก็เนื่องมาจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดขึ้น เมื่อได้ความจากผู้เสียหายและดาบตำรวจนิพนธ์พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีไปทันทีที่เห็นพยานโจทก์ทั้งสองและยังต่อสู้ขัดขวางไม่ยอมให้ดาบตำรวจนิพนธ์จับกุมตัวได้โดยง่าย ประกอบกับจำเลยที่ 1 เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตัดผลปาล์มน้ำมันร่วมกับคนงานอื่น ๆ ที่รับจ้างอยู่ในสวนปาล์มน้ำมันที่เกิดเหตุ แต่จำเลยที่ 1 กลับนำสืบต่อสู้ในชั้นพิจารณาว่า เข้าไปในสวนปาล์มน้ำมันที่เกิดเหตุเพื่อหาเห็ดและผักเพียงลำพัง พยานจำเลยที่ 1 ไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปลักตัดผลปาล์มน้ำมันโดยผู้เสียหายมิได้ว่าจ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามลักทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อันได้มาจากการกสิกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 และ 83 จำคุกคนละ 8 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน 40 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8