คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับเงินจากโจทก์ในนามของวัด บ. ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ มิใช่รับเงินจากโจทก์ในนามส่วนตัว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์เป็นการส่วนตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2520 จำเลยได้รับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 20,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยไม่เคยให้ดอกเบี้ยโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเรียกเงินจากจำเลยคืน จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 34,258 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองและชาวบ้านมอบให้วัดยางยี่แสเป็นตัวแทนนำเงินไปให้บุคคลผู้มีชื่อกู้ยืมในนามของวัดยางยี่แสขณะนั้นจำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัดยางยี่แสอยู่ โจทก์ทั้งสองจึงให้จำเลยทำนิติกรรมรับฝากเงินไว้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้ทำในนามของตนเอง โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องขึ้นไปภายใน 5 ปี และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอยู่ว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์ทั้งสองในนามของวัดยางยี่แสซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองหรือรับเงินจากโจทก์ทั้งสองในนามส่วนตัว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย …ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองที่อ้างว่าจำเลยรับฝากเงินไว้จากโจทก์ทั้งสองโดยตกลงจะให้ดอกเบี้ยนั้น โดยเนื้อแท้อาจเข้าลักษณะของการกู้ยืมเงินยิ่งกว่าเป็นการรับฝากทรัพย์ แต่ตามนามบัตรเอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยออกให้ไว้เป็นหลักฐานแก่โจทก์ทั้งสองนั้นระบุว่าเป็นการรับฝากเงินมิใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสอง จึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่ามิได้ประสงค์จะกู้ยืมเงินกัน แต่น่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองนำเงินมามอบให้จำเลยในฐานะเจ้าอาวาสวัดยางยี่แสไว้เพื่อหาประโยชน์ โดยจำเลยในฐานะเจ้าอาวาสวัดยางยี่แสได้นำเงินที่รับจากโจทก์ทั้งสองและชาวบ้านไปให้นางบุญมากู้ยืมปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.1 แต่ต่อมานางบุญมาหลบหนีไม่ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่วัดยางยี่แส ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็ได้เบิกความถึงเรื่องนี้เจือสมทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ที่ 1 ทราบจากชาวบ้านว่านางบุญมาโกงเงินวัดยางยี่แส ซึ่งวัดเอาเงินมาจากชาวบ้านอีกทีหนึ่ง จากพฤติการณ์แห่งคดีและพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์ทั้งสองในนามของวัดยางยี่แส ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองมิใช่รับเงินจากโจทก์ทั้งสองในนามส่วนตัว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วในประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์ทั้งสองในนามส่วนตัวมิใช่ในนามวัดยางยี่แส แต่รับไว้ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองนำไปให้นางบุญมากู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ทั้งสองนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นจากคำให้การหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share