คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจ้างมีว่า ‘กำหนดสัญญาว่าจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี’ นั้น สัญญาจ้างหาสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนด 3 ปีไม่ แต่ยังมีผลต่อไปจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า โจทก์มิได้อุทธรณ์เพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นเงิน 30,000 บาทแก่โจทก์ ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างดังกล่าวหาได้ไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2522 อัตราค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท กำหนดจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2524 จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยตกลงจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ 31 มกราคม 2525 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างกรณีเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,000 บาท และค่าชดเชย 3 เดือน จำนวน 90,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 2 จำนวนดังกล่าว

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนแต่โจทก์มิได้มีผลงานหรือความสามารถดังที่จำเลยคาดหวัง จำเลยจึงเลิกจ้างโดยบอกกล่าวให้โจทก์รู้ตัวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2525 ให้การเลิกจ้างมีผลเมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้าง จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จนถึงวันครบสัญญารับไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบแล้วถึง 5 เดือน จึงไม่มีความเสียหายที่โจทก์จะได้รับต่อไปอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จำนวน90,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 มกราคม2525 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่มีข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 ว่า กำหนดสัญญาว่าจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา3 ปีนั้น สัญญาจ้างหาสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนด 3 ปีไม่ แต่ยังมีผลต่อไปจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงมิใช่สัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2525 ข้อ 46 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม 2521 ข้อ 2

ส่วนที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์หยุดงานทันที ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 30,000 บาทแก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า โจทก์มิได้อุทธรณ์ เพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าหาได้ไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์

พิพากษายืน

Share