แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างที่ทำงานในงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่จำเลยก็คงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้ว จะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ แม้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำทางระหว่างจังหวัดและพนักงานต้อนรับประจำรถจะได้เบี้ยเลี้ยงเป็นรายเที่ยว ก็ย่อมมีสิทธิได้ค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์ได้ทำงานเกินไปจากวันละ 8 ชั่วโมงนั้น โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินเบี้ยเลี้ยงรวมกับเงินเดือน จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละหรือชั่วโมงละเท่าใด แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงนั้นมาคำนวณค่าจ้างดังกล่าว
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์เป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานเกินเวลาวันละแปดชั่วโมงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงต้องจ่ายค่าจ้างในชั่วโมงที่จำเลยให้โจทก์โจทก์ทำงานเกินเวลาปกติและเงินเบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาปกตินั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 36(3) ซึ่งกำหนดว่าลูกจ้างที่ทำงานในงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้ว จะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่และเมื่อได้พิจารณาถึงเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 1,110 บาท (วันละ 37 บาท) โจทก์ที่ 2 เดือนละ 810 บาท (วันละ 27 บาท) ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเงินจำนวนน้อยมาก แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นรายเที่ยวเมื่อเทียบกับเวลาทำงานที่ต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติแต่ละเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ตามเกณฑ์คำนวณโดยละเอียดของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 1 จะได้ค่าจ้างวันละ 115.90 บาทโจทก์ที่ 2 วันละ 61.70 บาท โจทก์ทั้งสองจึงย่อมมีสิทธิได้ค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์แต่ละคนได้ทำงานเกินไปจากวันละ 8 ชั่วโมงนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ปรากฏว่าชั่วโมงการทำงานของโจทก์ทั้งสองที่เกินไปในการเดินทางไปและกลับแต่ละเที่ยวระหว่างเดือนตุลาคม 2524ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงรับกันในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 มกราคม 2527 ว่า โจทก์ที่ 1ได้ขับรถเดินทางไปกลับช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2524 รวม17 เที่ยว (กรุงเทพ-ยะลา) ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2525รวม 45 เที่ยว (กรุงเทพ-หาดใหญ่) ช่วงเดือนตุลาคม 2525 ถึงมกราคม 2526 รวม 14 เที่ยว (กรุงเทพ-สุไหงโกลก) แต่ละการเดินทาง17, 45 และ 14 เที่ยวดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ทำงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเที่ยวละ 9, 6 และ 11 เศษ 1 ส่วน 2 ชั่วโมงตามลำดับจากการที่ศาลแรงงานกลางวางเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินเบี้ยเลี้ยงรวมกับเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 115.90 บาทหรือชั่วโมงละ 14.49 บาท จึงเป็นเงินค่าจ้างรวมทุกเที่ยวเดินทางของโจทก์ที่ 1 ซึ่งได้ทำงานเกินเวลาปกติ 584 ชั่วโมง ชั่วโมงละ14.49 บาท รวมเป็นค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายเพิ่มให้โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 8,462.16 บาท สำหรับโจทก์ที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่พนักงานต้อนรับประจำรถเดินทางไปกลับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 รวม 104 เที่ยว เงินเบี้ยเลี้ยงเที่ยวละ 200 บาทค่าจ้างเฉลี่ยเงินเบี้ยเลี้ยงรวมกับเงินเดือนของโจทก์ที่ 2ตามที่ศาลแรงงานกลางวางเกณฑ์คำนวณไว้เฉลี่ยวันละ 61.70 บาทหรือชั่วโมงละ 7.71 บาท โจทก์ที่ 2 ทำงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเที่ยวละ 6 ชั่วโมง จึงเป็นจำนวนทั้งสิ้น 624 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 7.71 บาท รวมเป็นค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายเพิ่มให้โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 4,812.60 บาท เงินทั้งสองจำนวนนี้จึงเป็นค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาปกติของโจทก์แต่ละคน อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีและในวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยได้ยอมรับแล้วว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนได้ทำงานในวันหยุดประเพณี และในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และจำเลยตกลงจะชำระเงินค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองสำนวนตามสิทธิของกฎหมาย ซึ่งจำเลยยังมิได้ชำระ ดังนั้น การที่จำเลยกลับมาอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการอุทธรณ์ฝืนข้อที่จำเลยยอมรับมาแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในส่วนที่ให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งทำงานเกินเวลาในวันทำงานตามปกติให้แก่โจทก์ที่ 1ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 ถึงเดือนมกราคม 2526 เป็นเงิน8,462.16 บาท และจ่ายแก่โจทก์ที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 เป็นเงิน 4,812.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”