คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้คำปรึกษาในด้านเทคนิคพิเศษและด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการของจำเลย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันว่าจะเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 5 เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องถูกผูกพันโดยข้อสัญญานั้น
สัญญาจ้างมีข้อความระบุชัดว่าคู่สัญญาต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง และข้อพิพาทในคดีนี้ที่โต้เถียงกันว่าจำเลยต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ หรือไม่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ซึ่งคู่กรณีจะต้องหาทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวด้วยการตกลงกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าว หาได้ใช้บังคับแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องการตีความข้อความ ในสัญญาจ้างไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตามสัญญาดังกล่าวก่อน
ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน เมื่อ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้เป็นที่สุดจำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223
ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ เมื่อข้อสัญญาในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 10 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 และวันที่ 5 กรกฎาคม2536 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคพิเศษและด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของจำเลย โดยจำเลยตกลงชำระค่าจ้างแก่โจทก์ตามเวลาที่ปฏิบัติงานเป็นชั่วโมง ตามอัตราค่าจ้างและชั่วโมงทำงาน รวมถึงค่าล่วงเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย กำหนดชำระค่าจ้างภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ จำเลยได้ชำระค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามสัญญาและตามใบแจ้งหนี้เฉพาะช่วงแรกโดยไม่โต้แย้งการปฏิบัติงานของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 60,873.01 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์แต่ไม่ยอมชำระหนี้ เมื่อคิดปรับอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท แล้วเป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 1,521,825.20 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,351.93 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 183,798.25 บาท รวมเป็นเงิน 1,705,623.45 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,521,825.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า สัญญาว่าจ้างทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้คู่สัญญานำข้อพิพาททั้งหมดหรือข้อละเมิดที่เกิดขึ้นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการตามกฎหมายของหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ แต่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ศาลจึงต้องจำหน่ายคดี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญาจึงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 10 ขอให้ศาลจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่ามิใช่กรณีพิพาทที่เกิดจากการแปลความหมายของสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 68,224.94 ดอลลาร์สหรัฐถ้าชำระเป็นเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้คิดโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ในวันพิพากษา แต่เป็นจำนวนไม่เกินคำขอท้ายฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,873.01 ดอลลาร์สหรัฐนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2536 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้คำปรึกษาในด้านเทคนิคพิเศษและด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการของจำเลย โดยจำเลยตกลงชำระค่าจ้างแก่โจทก์ตามเวลาที่ปฏิบัติงานเป็นรายชั่วโมง รวมทั้งค่าล่วงเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย กำหนดชำระค่าจ้างภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีข้อสัญญาว่า หากคู่สัญญามีกรณีพิพาทเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวจะต้องเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการแห่งกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ชี้ขาด

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญานั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดตัดสินก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นการมิชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยพร้อมคำแปลมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องจากการแปลความหมายในสัญญาจ้างให้คู่สัญญาพยายามหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกันแต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดตัดสินก่อน ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันว่าจะเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 5 เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องถูกผูกพันโดยข้อสัญญานั้น กล่าวคือ ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้เสนอให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา

ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างประสงค์ให้มีอนุญาโตตุลาการขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องการแปลความหมายของสัญญาจ้าง ไม่รวมถึงข้อพิพาทอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้น เห็นว่า สัญญาจ้างพร้อมคำแปลข้อ 12 วรรคสอง มีข้อความระบุชัดว่าคู่สัญญาต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ที่โต้เถียงกันว่าจำเลยต้องชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาจ้าง ซึ่งคู่กรณีจะต้องหาทางระงับข้อพิพาทดังกล่าวด้วยการตกลงกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างพร้อมคำแปลข้อ 12 ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวหาได้ใช้บังคับแต่เฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในเรื่องการตีความข้อความในสัญญาจ้างดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว

ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประการใดแล้วคู่ความที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ได้ เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้เป็นที่สุด จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรของรัฐผู้ใช้อำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และสามารถประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ผู้มีอรรถคดีได้ดีกว่าองค์กรอื่นเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสุดสิ้นกระแสความแล้ว หากยอมให้คู่ความนำข้อพิพาทที่ผ่านการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไปให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตัดสินอีกย่อมเกิดผลกระทบต่ออำนาจตุลาการนั้นเห็นว่า ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ เมื่อข้อสัญญาในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยาน หรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่ความดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย” เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้น ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share