คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีของศาลแพ่งแดงที่ 1696/2512 ระหว่าง ป. โจทก์ ว. จำเลย ซึ่งทำยอมความกันไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2512 ซึ่งข้อ 5 มีความว่า โจทก์จำเลยตกลงให้มีกรรมการตรวจงาน 3 นาย ให้กรรมการทั้ง 3 นาย มีอำนาจชี้ขาดว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จตามข้อตกลงหรือไม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2512 กรรมการตรวจงานทั้งสามคนได้ไปตรวจงานก่อสร้างทุกรายการตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าโจทก์ จำเลยในคดีนั้นแล้ว เห็นว่าผลงานก่อสร้างทุกรายการตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จเรียบร้อยใช้การได้ และฝีมือช่างที่ก่อสร้างอยู่ในขั้นประณีตใช้การได้ดี ปรากฏเช่นนี้ โจทก์มาบรรยายฟ้องคดีนี้ว่า การตรวจงานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 (หมายถึงคณะกรรมการตรวจงานในคดีแรก) ไม่ได้กระทำการโดยสุจริต ฯลฯ กรณีดังที่กล่าวมาเห็นได้ชัดแจ้งว่า ข้อโต้แย้งของโจทก์ในคดีนี้เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1696/2512 โจทก์ชอบที่จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้รู้ว่าคณะกรรมการผู้ตรวจงานทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ในคดีเดิม ไม่ชอบที่จะมาฟ้องเป็นคดีใหม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าให้มีคำพิพากษาเพิกถอน ทำลายบันทึกของคณะกรรมการตรวจงานลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๒ ในคดีแพ่งแดงที่ ๑๖๙๖/๒๕๑๒ ของศาลแพ่งอันเป็นกลฉ้อฉล และเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับดคีในคดีแดงที่ ๑๖๙๒/๒๕๑๒ ของศาลแพ่ง โจทก์ชอบที่จะร้องต่อศาลในสำนวนคดีเดิม ไม่ชอบทีจะมาฟ้องเป็นคดีใหม่ คำฟ้องของโจทก์มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ จึงไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า เป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีของศาลแพ่งแดงที่ ๑๖๙๖/๒๕๑๒ ระหว่าง ป. โจทก์ ว. จำเลย ซึ่งทำยอมความกันไว้เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๒ ซึ่งข้อ ๕ มีความว่าโจทก์จำเลยตกลงให้มีกรรมการตรวจงาน ๓ นาย คือ (๑) นายสำเภา จันทรเมฆา (๒) นายชวลิต หะรินเดช (๓) จ่าศาลแพ่ง ให้กรรมการทั้ง ๓ นายมีอำนาจชี้ขาดว่า การก่อสร้างแล้วเสร็จตามข้อตกลงหรือไม่…..ฯลฯ ข้อ ๖ ถ้ากรรมการดังกล่าวในข้อ ๕ ชี้ขาดว่า โจทก์ทำการก่อสร้างถูกต้องตามสัญญานี้แล้ว จำเลยจะต้องจ่ายเงินสามแสนบาทถ้วนให้โจทก์ภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ กรรมการตรวจงานทั้งสามคนได้ไปตรวจงานก่อสร้างทุกรายการตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าโจทก์ จำเลยในคดีนั้นแล้วว่าลผลงานก่อสร้างทุกรายการตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จเรียบร้อยใช้การได้ และฝีมือช่างที่ก่อสร้างอยู่ในชั้นประณีตใช้การได้ดี ปรากฏเช่นนี้โจทก์มาบรรยายฟ้องคดีนี้ว่า การตรวจงานของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ (หมายถึงคณะกรรมการตรวจงานในคดีแรก) ไม่ได้กระทำการโดยสุจริต ฯลฯ โดยเชื่อถือแต่คำชี้แจงของจำเลยที่ ๑ ทั้งไม่ยินยอมให้โจทก์ชี้แจงโต้แย้งการก่อสร้างของจำเลยที่ ๑ ที่ทำไม่ถูกต้องตามสัญญาเลยแม้แต่น้อย ทั้งมิได้ตรวจงานครบถ้วนทุกรายการตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แล้วกรรมการตรวจงานทั้งสามร่วมกันทำบันทึกลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๒ อันเป็นความเท็จ เพราะทำขึ้นฝ่าฝืนและขัดแย้งต่อความจริง เป็นบันทึกที่ทำขึ้นด้วยกลฉ้อฉลของจำเลยทั้งสี่ ให้ศาลแพ่งหลงเชื่อว่าเป็นความจริงตามบันทึก จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิจะนำบันทึกดังกล่าวมาขอให้ศาลบังคับโจทก์ให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ กรณีดังกล่าวที่มาเห็นได้ชัดแจ้งว่า ข้อโต้แย้งของโจทก์ในคดีนี้เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๖๙๖/๒๕๑๒ โจทก์ชอบที่จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาให้รู้ว่าคณะกรรมการตรวจงานทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ในคดีเดิม ไม่ชอบที่จะมาฟ้องเป็นคดีใหม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share