คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวก ในข้อหาโกงเจ้าหนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์จะใช้หรือได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แม้คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 กับ ม.หย่ากันเมื่อใดก็ตาม ศาลไม่ได้หยิบยกข้อความที่ว่าจำเลยที่ 1 หย่ากันม.ขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อแพ้ชนะ อันจะเป็นข้อสำคัญในคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า “จำเลยที่ 1จดทะเบียนหย่ากับนางมณี นาคสวัสดิ์ จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 750/2532” และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานใบสำคัญการหย่าดังกล่าวอันเป็นเท็จเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 หย่าขาดกับนางมณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2528 ความจริงจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับนางมณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดี และเมื่อวันที่4 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2529 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร อาศัยโอกาสที่มีหน้าที่ดังกล่าวกระทำการปลอมเอกสารโดยกรอกข้อความลงในใบสำคัญการหย่าซึ่งเป็นเอกสารราชการออก ณ สำนักงานทะเบียนเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับนางมณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2528 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในคดีอาญาดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 177, 180, 181,264, 90, 91, 84
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 91 ยกฟ้องข้อหาอื่นและยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคสอง, 180 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก2 ปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 รับราชการประจำกองบังคับการตำรวจน้ำจังหวัดสมุทรปราการ มีที่ดินและบ้านเลขที่ 295/1 ตำบลสำโรงเหนืออำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1จดทะเบียนสมรสกับนางมณี นาคสวัสดิ์ และพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวต่อมาปี พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1 ถูกย้ายไปรับราชการที่อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 มีภริยาใหม่ วันที่ 16 ตุลาคม2528 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2529 นางมณีกู้ยืมเงินโจทก์เป็นเงินสามแสนบาทเศษ ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายบ้านเลขที่ 295/1 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 24095 ตำบลสำโรงเหนืออำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่นางสอิ้งคงด้วยแก้ว วันที่ 4 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่ากับนางมณี เมื่อนางมณีผิดนัดชำระเงินที่กู้ยืม โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์2530 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางมณีชำระเงินแก่โจทก์เมื่อโจทก์จะบังคับคดีจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่นางสอิ้ง โจทก์จึงได้ฟ้องนางมณี จำเลยที่ 1 และนางสอิ้งตามลำดับ ต่อศาลชั้นต้นข้อหาร่วมกันโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 750/2532 ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบเอกสารหมาย ป.ล.1 และ ป.ล.3ถึง ป.ล.5 ว่าจำเลยที่ 1 หย่ากับนางมณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม2528 ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 หย่ากับนางมณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม2529 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จดังฟ้องหรือไม่ ในคดีหมายเลขแดงที่ 750/2532 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวกในข้อหาโกงเจ้าหนี้นั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า การที่นางมณีไปทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย การที่จะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ต้องได้ความว่า ผู้กระทำรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่โจทก์ฟ้องนางมณีหลังจากที่จำเลยที่ 1 โอนขายบ้านและที่ดินให้แก่นางสอิ้งแล้ว และไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1รู้ว่าโจทก์จะใช้หรือได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัยให้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 548/2534 ของศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ศาลชั้นต้นหาได้หยิบยกข้อความที่ว่า จำเลยที่ 1 หย่ากับนางมณีเมื่อใดขึ้นวินิจฉัยไม่ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่ข้อแพ้ชนะอันจะเป็นข้อสำคัญในคดี แม้จะฟังว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเป็นเท็จก็ตาม ก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share