แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตรเขยล่วงรู้ฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1ผู้เป็นแม่ยายที่ตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตลอดมาเป็นอย่างดี นอกจากที่พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 มีที่ดินอีกเพียงแปลงเดียวซึ่งติดจำนองโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกยากแก่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทพร้อมอาคารปั๊มน้ำมันจากจำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 150,000 บาททั้งที่มีราคาถึง 500,000 บาท จึงเป็นการรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างเป็นลูกค้าโจทก์ที่สาขาพัฒนานิคม จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1610ไว้เป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 250,000 บาทต่อมาโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หาหลักทรัพย์มาเป็นประกันเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนเงินที่เป็นหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 533 มามอบให้โจทก์เป็นประกันหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขอรับโฉนดที่ดินเลขที่ 533 ไปเพื่อนำไปแบ่งแยกแก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น ส่วนที่เหลือจะได้นำมาจำนองกับโจทก์ต่อไป หลังจากแบ่งแยกแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับโฉนดที่ดินฉบับใหม่เลขที่ 4512 มีเนื้อที่ 5 ไร่ และมีอาคารปั๊มน้ำมันปลูกอยู่มีราคาประมาณ 400,000 บาท ถึง 500,000 บาท แต่จำเลยที่ 1กลับมิได้นำที่ดินดังกล่าวมาจำนองกับโจทก์ เมื่อโจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 4512 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528ในราคา 150,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินที่จำนองไว้กับโจทก์ครั้งแรก ซึ่งแม้จะรวมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4512 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกันแล้วก็ยังไม่พอกับหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉล โดยจำเลยที่ 2 รู้ถึงความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ทั้งไม่มีเจตนาซื้อขายกันอย่างแท้จริงขอให้เพิกถอนการขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4512 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสองโดยให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 533ไปแบ่งแยกโดยได้รับความเห็นชอบจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2527จำเลยไม่เคยตกลงที่จะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 4512 มาจำนองกับโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4512 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2527 โดยจำเลยที่ 1 ยังได้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 ต่างหากอีก รวมเป็นเงินค่าซื้อขายที่ดินกับเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 1 ล้านบาทแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีที่โจทก์ซึ่งโจทก์ก็ได้หักหนี้ไว้แล้ว ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด กลับเป็นประโยชน์เสียอีก เพราะที่ดินคงมีราคาประเมินเพียง 160,000 บาท โจทก์ทราบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1แล้วไม่คัดค้านกลับสนับสนุน เป็นเวลานานเกินกว่า 1 ปีแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้โจทก์ในจำนวนเงินที่สูงกว่าหลักทรัพย์ที่ประกันไว้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และได้ชำระราคาไปตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2527 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 4512 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีระหว่างจำเลยทั้งสองให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเดิมรวมอยู่กับที่ดินโฉนดเลขที่ 533 ต่อมาได้มีการแบ่งแยกให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม แล้วจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4512 ซึ่งออกให้ใหม่ คือที่ดินพิพาทนี้มีเนื้อที่ 5 ไร่อยู่ในเขตสุขาภิบาล มีราคาประเมินไร่ละ 54,000 บาท คิดเป็นเงิน270,000 บาท ปรากฏตามคำเบิกความของนายอำนาจ รักชาติเจริญพยานจำเลยซึ่งเป็นน้องสามีจำเลยที่ 1 ว่า ได้มีการสร้างอาคารปั๊มน้ำมันในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2525 เสียค่าก่อสร้างประมาณ 200,000บาท และการก่อสร้างอาคารปั๊มน้ำมันได้ทำก่อนจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมอาคารปั๊มน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบุตรเขย 3 ปี และยังได้ความจากนายพัฒนา รักชาติเจริญ พยานจำเลยอีกปากหนึ่งซึ่งเคยเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เคยบอกขายอาคารปั๊มน้ำมันในราคา 300,000 บาทเศษ แต่มาขายให้จำเลยที่ 2ในราคาถูกเพราะเป็นแม่ยายกับบุตรเขยกัน ดังนี้ ที่ดินพิพาทพร้อมปั๊มน้ำมันย่อมมีราคาไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท สอดคล้องกับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าที่ดินพิพาทพร้อมอาคารปั๊มน้ำมันมีราคาถึง 500,000บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่า เมื่อแต่งงานกับบุตรสาวของจำเลยที่ 1 กับนายพัฒนา เมื่อปี 2525 แล้ว ก็เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในกิจการค้าน้ำมันกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองต่างมีบัญชีกระแสรายวันอยู่กับโจทก์ การซื้อน้ำมันระหว่างจำเลยทั้งสองมีการซื้อขายสับเปลี่ยนกันตลอดเวลา หากเงินของใครขาดก็เอาเงินของอีกคนหนึ่งได้ มีการโอนเงินจ่ายค่าน้ำมันระหว่างกันในบัญชีกระแสรายวันที่มีอยู่กับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ยังเคยขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยหาเงินกู้ให้ 850,000 บาท แล้วต่อมาจำเลยที่ 2ได้โอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากบัญชีของตนไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เพื่อลดยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ซึ่งนายอุดมศักดิ์ มหาวีระวัฒน์ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารโจทก์สาขาพัฒนานิคม พยานโจทก์ก็เบิกความว่า หลังจากนั้นแล้ว จำเลยที่ 2ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีตลอดมาเพียงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมอาคารปั๊มน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 2 ประมาณเดือนเศษ โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ 1,700,000 บาทเศษ เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ล่วงรู้ฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 ที่ตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตลอดมาเป็นอย่างดี นอกจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1คงมีที่ดินอีกเพียงแปลงเดียวซึ่งติดจำนองโจทก์ในวงเงินไม่เกิน250,000 บาท เท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก ยากแก่โจทก์จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2ผู้เป็นบุตรเขยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมอาคารปั๊มน้ำมันจากจำเลยที่ 1ผู้เป็นแม่ยายในราคาเพียง 150,000 บาท ทั้งที่มีราคาถึง 500,000บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน