แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรรมการบริษัทโจทก์สองนายได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ย. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์เป็นตัวแทน มีอำนาจกระทำการในนามบริษัทโจทก์ และลงนามในหนังสือสัญญาขายสินค้าแทนบริษัทโจทก์ได้ฉะนั้น ที่ ย. ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อในนามบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อ ย. คนเดียวและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ จึงเป็นการกระทำแทนบริษัทโจทก์โดยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์โดยชอบ
บริษัทจำเลยที่ 1 เคยให้ ท. แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทมิตซูบิชิและบริษัทโตโยต้า แล้วนำรถนั้นมาใช้ในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้ ท. จะได้กระทำไปโดยผิดระเบียบ บริษัทจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับและในขณะที่ ท.ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์ในนามบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อ ได้ลงลายมือชื่อประทับตราดุน ซึ่งเป็นตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ก็แสดงให้เห็นว่า ท. ได้เช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์มาใช้ในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นเช่าซื้อรถเป็นส่วนตัวของ ท. กับจำเลยที่ 2 เมื่อได้ส่งมอบรถกันแล้วมีหลักฐานทะเบียนรถว่าบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถทั้ง 16 คัน และมีการต่อตัวถังทำเป็นรถยนต์รับส่งคนโดยสาร ทาสีรถเป็นสีเขียวเหลือง และตราของบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง แล้วนำรถทั้งหมดไปใช้แล่นรับส่งคนโดยสารหาประโยชน์ในเส้นทางสัมปทานของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า ท. กับ ช. ได้ใช้รถแล่นหาผลประโยชน์เป็นส่วนตัวเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถที่บริษัทโจทก์ได้นำมาฟ้อง แม้ ท. จะได้กระทำผิดข้อระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ถือว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันต่อการกระทำของ ท. ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 บริษัทจำเลยที่1 จึงมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่บริษัทโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 บริษัทโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุผิดสัญญาจากบริษัทจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาคดี 16 สำนวนนี้รวมกัน
โจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อออสตินพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ ราคาคันละ 86,000 บาท ใช้เงินในวันทำสัญญา 3,600 บาท ที่เหลือผ่อนใช้ 23 งวด ๆ ละหนึ่งเดือน ๆ ละ 3,600 บาท เดือนสุดท้าย 3,200 บาท จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการใช้เงินของจำเลยที่ 1 กับค่าเสียหายของโจทก์อย่างเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนรถเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยึดรถซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรมคืนมา เมื่อเอาราคารถที่จะขายได้ไปหักกับค่าเช่าซื้อที่ค้างกับที่จะต้องใช้ต่อไปจำเลยจะต้องใช้เงินให้โจทก์ดังนี้ รถในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 73, 74, 77, 81, 82, 84/2514 คันละ 66,000 บาท หมายเลขดำที่ 75, 76,78, 83, 85, 87/2514 คันละ 64,000 บาท หมายเลขดำที่ 88/2514 74,000บาท หมายเลขดำที่ 79/2514 71,000 บาท หมายเลขดำที่ 80/2514 65,000บาท หมายเลขดำที่ 86/2514 ยึดรถมาไม่ได้ จำเลยจะต้องใช้เงินให้โจทก์86,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยส่งทะเบียนรถซึ่งได้แก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถแล้วให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างได้จดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่า กรรมการสองนายมีอำนาจลงชื่อประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และแทนจำเลยที่ 1 แต่หนังสือเช่าซื้อตามฟ้อง นายยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุล ได้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์คนเดียวและจำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงลายมือชื่อร่วมกับนายทรง โกสิยะสถิตประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หนังสือสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ได้นำมาฟ้องจึงไม่สมบูรณ์และไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นายทรงกับจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถจากโจทก์เป็นส่วนตัว
จำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจากโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริงดังฟ้อง แต่ได้ให้การต่อสู้คดีอีกหลายประการ ฯลฯ
ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 2 ได้นำทะเบียนรถรวม 16 คันมาให้โจทก์ ซึ่งได้ขายรถทั้งหมดไปได้เงิน 380,000 บาท และจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนทะเบียนรถเป็นของผู้ซื้อ
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ในคดีล้มละลายแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายในการใช้รถกับค่ารถบุบสลายแก่โจทก์ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 73, 74, 77, 81, 82, 84/2514 สำนวนละ 62,600 บาทหมายเลขดำที่ 75, 76, 78, 83, 85, 87/2514 สำนวนละ 60,400 บาท หมายเลขดำที่ 79/2514 68,500 บาท หมายเลขดำที่ 80/2514 61,500 บาท หมายเลขดำที่ 86/2514 56,000 บาท หมายเลขดำที่ 88/2514 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแต่ละสำนวนอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ใช้เงินให้โจทก์เสร็จ ให้ยกคำขอให้ส่งทะเบียนรถ เพราะได้มีการปฏิบัติตามคำขอในระหว่างพิจารณาคดีแล้ว
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าผู้ลงลายมือชื่อแทนบริษัทโจทก์ และผู้ลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนไว้และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หนังสือสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทโจทก์นำมาฟ้องบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่สมบูรณ์และไม่ผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น คดีได้ความตามเอกสาร จ.1 จ.2 ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม2510 กรรมการบริษัทโจทก์สองนายได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายยอดยิ่งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท โจทก์เป็นตัวแทนชั้น ก. มีอำนาจกระทำการในนามบริษัทโจทก์และลงนามในหนังสือสัญญาขายสินค้าแทนบริษัทโจทก์ได้ฉะนั้น ที่นายยอดยิ่งได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อในนามบริษัทโจทก์ ลงลายมือชื่อนายยอดยิ่งคนเดียว และประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ จึงเป็นการกระทำแทนบริษัทโจทก์โดยได้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์โดยชอบ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 เคยให้นายทรงแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ในหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทมิตซูบิชิและบริษัทโตโยต้า แล้วนำรถนั้นมาใช้ในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้นายทรงจะได้กระทำไปโดยผิดระเบียบ บริษัทจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับและในขณะที่นายทรงทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์ในนามบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อได้ลงลายมือชื่อประทับตราดุน ซึ่งเป็นตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ก็แสดงให้เห็นว่านายทรงได้เช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์มาใช้ในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นการเช่าซื้อรถเป็นส่วนตัวของนายทรงกับจำเลยที่ 2 เมื่อได้ส่งมอบรถกันแล้วมีหลักฐานทะเบียนรถว่าบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถทั้ง 16 คัน และฟังได้ว่าได้มีการต่อตัวถังทำเป็นรถยนต์รับส่งคนโดยสารทาสีรถเป็นสีเขียวเหลือง และตราของบริษัทจำเลยที่ 1บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ขออนุญาตต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง แล้วนำรถทั้งหมดไปใช้แล่นรับส่งคนโดยสารหาประโยชน์ในเส้นทางสัมปทานของบริษัทจำเลยที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่านายทรงนายเชื้อได้ใช้รถแล่นหาผลประโยชน์เป็นส่วนตัวเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถที่บริษัทโจทก์ได้นำมาฟ้อง แม้นายทรงจะได้กระทำผิดข้อระเบียบ ข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ฟังได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันต่อการกระทำของนายทรง ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถจากบริษัทโจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823บริษัทจำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่บริษัทโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 บริษัทโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุผิดสัญญาจากบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อนายทรงพ้นหน้าที่ประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้วคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ชุดใหม่จึงได้ประชุมลงมติไม่ยอมรับว่ารถรายที่ฟ้องเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 เอกสารต่าง ๆ ที่บริษัทจำเลยที่ 1 อ้าง จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนตัวประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีผลให้บริษัทจำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดต่อบริษัทโจทก์
พิพากษายืน