แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมไม่ แม้ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายโดยอ้างว่ามีพินัยกรรมระบุไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลได้ดำเนินการพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาท เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสืบพยานไปบ้าง แต่ยังไม่หมดปาก และแต่ละฝ่ายต่างอ้างสำนวนคดีอื่นที่คู่ความในคดีนั้นได้ประนีประนอมยอมความกันในเรื่องทรัพย์มรดกผู้ตาย พร้อมพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเป็นพยาน เมื่อได้มีการเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนได้แล้ว การที่ศาลพิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางบุญช่วยซึ่งเป็นภริยาของนายสวน และเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ร้อง ก่อนตายนางบุญช่วยได้ทำพินัยกรรมตั้งให้ผู้ร้องและนายนรินทร์เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญช่วยผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ร้อง และผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกหรือตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก เพราะผู้ร้องเคยเป็นบุคคลวิกลจริต และผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นหญิงมีสามี ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ ๑ และตั้งผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดก
ก่อนไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านที่ ๑ ขอถอนคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้ร้องได้ ๑ ปากเพียงตอบผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านยังไม่ได้ถามค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดการพิจารณาและพิพากษาให้ยกคำร้อง คดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป
ในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง คู่ความแถลงรับกันว่า ต่างเคยพิพาทและตกลงประนีประนอมกันในคดีมรดกของผู้ตาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๒๒,๕๐๙/๒๕๑๕ ของศาลชั้นต้น คู่ความต่างอ้างสำนวนทั้งสองและพยานหลักฐานในสำนวนเป็นพยานในคดีและขอสืบพยานบุคคลต่อไป โดยผู้ร้องจะขอสืบเฉพาะตัวผู้ร้องแต่เพียงปากเดียว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามสำนวนคดีแห่งหมายเลขแดงที่ ๔๒๒,๕๐๙/๒๕๑๕ ซึ่งคู่ความอ้างเป็นพยานร่วมกันนั้น ผู้ร้องและนายนรินทร์ได้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกรายนี้จากผู้คัดค้าน โดยอ้างว่าเป็นทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม คดีทั้งสองสำนวนคู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล เฉพาะในสำนวนที่เกี่ยวกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านยอมแบ่งมรดกให้ผู้ร้องเป็นเงินสด ๓๕๐,๐๐๐ บาท กับที่ดินอีก ๑ แปลง โดยผู้ร้องไม่ติดใจเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่พิพาทกันอีกต่อไป คดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทระหว่างคู่ความเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายตลอดจนความสมบูรณ์ของพินัยกรรมและการเป็นทายาทของผู้ตายเป็นอันระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้คัดค้านเป็นสามีของผู้ตายได้อยู่บ้านร่วมกันฉันสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลาหลายสิบปี แม้จะฟังว่าการสมรสไม่สมบูรณ์ ผู้คัดค้านก็ยังมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เมื่อผู้คัดค้านได้จัดแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของผู้ตายให้แก่ทายาทจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เหลือและเป็นผู้ครอบครอบอยู่แต่ผู้เดียว ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานและพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนในข้อที่ผู้คัดค้านขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้แล้ว ให้ศาลชั้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ในประเด็นที่ว่า การที่ศาลไม่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๗๑๓ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถึงแม้ผู้ร้องจะขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างว่ามีพินัยกรรมระบุไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่า ผู้ใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะเป็นผู้ที่สมควรได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก บทบัญญัติในวรรค ๒ ของมาตรา ๑๗๑๓ ที่ว่าการตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยให้พิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้นหาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดนั้นย่อมแล้วแต่จะเห็นสมควร เมื่อศาลเห็นว่าผู้ร้องได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากผู้คัดค้านไปจนเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้ร้องยังมีส่วนได้เสียในกองมรดก แต่เมื่อเทียบกับผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมากกว่าผู้ร้อง ศาลก็มีอำนาจตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกได้ ฉะนั้นการยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา ๑๗๑๓ วรรค ๒
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาเกี่ยวกับที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ดำเนินการไต่สวนผู้คัดค้านเสียก่อนที่จะตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่าคดีนี้ได้ดำเนินการพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสืบพยานไปบ้างแต่ไม่หมดปาก แต่ละฝ่ายต่างอ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๒๒,๕๐๙/๒๕๑๕ ของศาลชั้นต้น ที่คู่ความประนีประนอมยอมควากมันพร้อมพยานหลักฐานในสำนวนเป็นพยาน เมื่อได้มีการเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนได้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาให้เป็นพับ