คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดดังกล่าวเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความในส่วนนี้จึงไม่ชอบ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยวด้วยหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ จึงต้องกำหนดโทษเสียใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 83, 90, 91, 50 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดครึ่งหน้าในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ แนวหน้า มติชน ข่าวสด เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา และสั่งห้ามจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามคำพิพากษา และนับโทษต่อจากคดีที่ระบุไว้ท้ายคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 136, 326 ประกอบมาตรา 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบ มาตรา 328 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 50,000 บาท คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับการทำงานของจำเลยในบางกรณีก็เป็นประโยชน์แก่สังคม จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับตัวและระมัดระวังในการลงข่าวเขียนข่าวต่อไป โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ และหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อเป็นใจความพอเข้าใจได้ในหนังสือข่าวสดของจำเลยที่1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์มติชนติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม สำหรับคำขอให้นับโทษต่อนั้น เมื่อศาลลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีโทษที่จะนับต่อ และคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องว่า “เนื่องด้วยโจทก์และบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) บริษัทข่าวสด จำเลย ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกต่อไป ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อนึ่ง โจทก์และบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) บริษัทข่าวสด จำกัด และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องคดีนี้ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งใด ๆ ต่อกันอีกต่อไป” ส่วนจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องอุทธรณ์ว่า “เนื่องจากโจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันได้แล้ว โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยจำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน นอกจากนี้ จำเลยทั้งสามยังมีความประสงค์ขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามอีกด้วย”
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอุทธรณ์และอนุญาตให้จำเลยทั้งสามถอนอุทธรณ์ได้ จำหน่ายคดี”
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอุทธรณ์โดยมิได้อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในความผิดที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดอันเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์มีสิทธิถอนฟ้องได้ก่อนคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ที่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความในส่วนนี้จึงไม่ชอบ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และไม่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยวด้วยหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ซึ่งเป็นบทเบาและความผิดฐานนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ จึงต้องกำหนดโทษเสียใหม่ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์พอแปลได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะถอนฟ้องอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 136 ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ต้องโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 และอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอุทธรณ์ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำสั่งศาลอุทธรณ์

Share