คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า น. สละการครอบครองและจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองแล้วนั้น ฎีกาประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ. 2511 ก็ตาม โจทก์คงมีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่เพียงใดเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 246 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน โดยกรมประชาสงเคราะห์กระทรวงมหาดไทยจัดสรรให้ เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2533ถึงต้นเดือนกันยายน 2533 จำเลยทั้งสองและบริวารนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถและปลูกข้าวโพดในที่ดินดังกล่าวบางส่วนปรากฏตามบริเวณเส้นประสีเขียวในแผนที่สังเขป เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างนายหนู เจนดงสามีโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้น ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด เดิมที่พิพาทเป็นของนายหนู เจนดง เมื่อปี 2515 นายหนูขายให้จำเลยด้วยวาจาราคา50,000 บาท โดยผ่อนชำระราคาจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาปี 2531 จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระทั้งหมด จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาซื้อขายกับนายหนูเป็นหนังสือและเพื่อเป็นการประกันสัญญาซื้อขายที่พิพาท นายหนูจึงได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 ว่า นายหนูถึงแก่กรรมแล้ว และโจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายหนู เจนดง ไม่เคยขายที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาท สัญญาซื้อขายที่จำเลยอ้างเป็นเอกสารปลอมและเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่พิพาทต้องห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนตามกฎหมาย นายหนูมิได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และพินัยกรรมที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองขาดอายุความเพราะจำเลยทั้งสองทราบว่า นายหนูถึงแก่กรรมมาเกิน 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริง คู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาท (ที่ถูก ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกที่พิพาท) ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 703/2533ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเข้าไปทำกินในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย เชื่อโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของตน จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำผิดฐานบุกรุกพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว และที่พิพาทเป็นของกรมประชาสงเคราะห์จัดให้ราษฎรเข้าทำกินเมื่อ พ.ศ. 2515 จำเลยอ้างว่าทำหนังสือสัญญาการซื้อขายที่พิพาทจากนายหนู ที่พิพาทยังไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพิ่งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อ พ.ศ. 2531 โดยออกตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 มีข้อห้ามโอนภายในกำหนด 5 ปี ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาข้อกฎหมายข้อแรกว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า นายหนูสละการครอบครองและจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองแล้วนั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยในประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ รัฐเท่านั้นที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ ศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม โจทก์ยังคงมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิเพียงใดนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share