คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6238/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่น มาตราดังกล่าวบัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์เลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างตามมาตราดังกล่าว
การจ้างโดยมีกำหนดทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นั้น หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยให้ทดลองทำงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานก็จะจ้างกันต่อไปถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างนายศิริพงษ์ วัชระวลีกุล เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยมีกำหนดเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ด้วยวาจา เนื่องจากผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ ต่อมาจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างนายศิริพงษ์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะโจทก์เลิกจ้างในขณะที่นายศิริพงษ์อยู่ในระหว่างทดลองงานซึ่งมีกำหนดไม่เกิน 120 วัน อันเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ลูกจ้างในระหว่างทดลองงาน เนื่องจากผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ อันเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เป็นกรณีเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานเนื่องจากผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ ซึ่งโจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน2544 โจทก์จ้างนายศิริพงษ์ วัชระวลีกุล เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000 บาท โดยมีกำหนดทดลองงานไม่เกิน 120 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2544 และโจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ด้วยวาจาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 อ้างเหตุว่าผลการปฏิบัติงานไม่อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายศิริพงษ์ลูกจ้างในระหว่างทดลองงาน โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายศิริพงษ์ตามคำสั่งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จ้างนายศิริพงษ์ตั้งแต่วันที่4 มิถุนายน 2544 โดยมีกำหนดเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นั้น หมายถึง โจทก์ตกลงจ้างนายศิริพงษ์ให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมนั้นบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ซึ่งได้บัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณี คือ กรณีแรก สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีที่สองและที่สาม เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 17 วรรคท้าย คือนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใด กรณีหนึ่งตามมาตรา 119และนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยบทบัญญัติมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างนายศิริพงษ์ลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยไม่เข้าเหตุกรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย ดังนั้น โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้นายศิริพงษ์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างนายศิริพงษ์โดยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายศิริพงษ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 51/2544 ของจำเลยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share