คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัตถุของกลางไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าวัตถุของกลางเมื่อจุดไฟแล้วจะทำให้เกิดการระเบิดส่งกำลังดันอย่างแรงต่อ สิ่งห้อมล้อมหรือไม่ และกำลังดันนั้นมีแรงทำลายหรือแรงประหารอย่างไร จึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔๓, ๕๕, ๗๘, ๘๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๘๓, ๙๑ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสิบให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๗ ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็น รับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๙ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๙
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ ไว้ในระหว่างฎีกา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุระเบิดตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “วัตถุระเบิด” ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔ (๓) บัญญัติว่า “วัตถุระเบิด” คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการ สลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อประทุต่าง ๆ หรือ วัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศระบุไว้ใน ราชกิจจานุเบกษา แต่คดีนี้โจทก์ไม่สามารถนำสืบอธิบายให้เห็นว่าน้ำมันเบนซินที่บรรจุอยู่ในขวดเบียร์ ขวดน้ำ และ ถังแกลลอนของกลางนั้น เมื่อจุดไฟจากเศษผ้าซึ่งเป็นสายชนวนแล้ว จะทำให้เกิดการระเบิดส่งกำลังดันอย่างแรงต่อ สิ่งห้อมล้อมโดย ฉับพลันหรือไม่ และกำลังดันนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารอย่างไร กลับได้ความจาก รายงานการตรวจพิสูจน์ว่า “ของกลางอยู่ในสภาพใช้การได้ เมื่อจุดแล้วขว้างปาไปจะทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้” และได้ความจากคำเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางคดีนี้ว่า ของกลางคดีนี้นั้นเป็นระเบิดเพลิงชนิดทำเอง ซึ่งคุณสมบัติของระเบิดเพลิงนั้นเมื่อจุดจะทำให้เกิดการลุกไหม้ ซึ่งอานุภาพของระเบิดเพลิงทางสะเก็ดนั้นไม่มี คือเมื่อปาขวดออกไปแล้วขวดแตก บริเวณนั้นจะเกิดไฟไหม้ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันบรรจุไว้ในขวดมีมากเพียงใด การกระจายของระเบิดเพลิงเวลาแตกนั้นขึ้นอยู่กับแรงกระแทก กรณีที่ถูกวัตถุที่แข็งเช่นพื้นนั้นจะทำให้กระจายมาก แต่หากถูกพื้นดินอาจจะทำให้ไม่เกิดการกระจายเลย ดังนั้น เมื่อได้ความว่าวัตถุของกลางไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน จึงไม่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน และไม่มีกำลังดันทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร อีกทั้งลักษณะของวัตถุของกลางก็ไม่ใช่เชื้อประทุหรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกับเชื้อประทุซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดดังที่มาตรา ๔ (๓) ให้คำวิเคราะห์ศัพท์ไว้ จึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิด การที่ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ มีขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอนที่บรรจุน้ำมันเบนซินของกลางไว้ในครอบครอง และเคลื่อนย้ายจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share