คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดที่จะเพิ่มโทษทวี คูณตาม ก.ม.อาญา ม.74 นั้นหมายถึงความผิดที่ซ้ำประเภทเดียวกัน กล่าวคือซ้ำกันในเรื่องความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายตั้งแต่ ม.249 ถึง 259 ประเภทหนึ่ง กับซ้ำกันในเรื่องความผิดฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ตั้งแต่ ม. 288 ถึง 323 อีกประเภทหนึ่ง
จำเลยเคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ ต้องโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน มาแล้วทั้ง 2 ครั้ง พ้นโทษไปแล้วไม่เกิน 5 ปีมากระทำผิดฐานรับของโจรอีก ดังนี้การกระทำของจำเลยเข้าเกณฑ์ความผิดตาม ม. 74 แล้ว

ย่อยาว

คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาในข้อ ก.ม.เรื่องเพิ่มโทษของจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม. ๗๔ ว่าตามที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้เพิ่มโทษจำเลยทวีคูณตาม ก.ม.อาญา ม.๗๔ นั้นถูกต้องหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจร ตาม ก.ม.อาญา ม. ๓๒๑ ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒ ปีแต่จำเลยเป็นคนไม่เข็ดหลาบเคยต้องโทษมาแล้วรวม ๕ ครั้ง เฉพาะครั้งที่ ๔ ต้องโทษฐานลักทรัพย์ ๑ ปี ๘ เดือน ครั้งที่ ๕ ต้องโทษฐานลักทรัพย์ ๑ ปี พ้นโทษครั้งที่ ๕ ไปแล้วไม่เกิน ๕ ปี มาทำผิดฐานรับของโจรในคดีนี้อีก ศาลทั้งสองจึงเพิ่มโทษจำเลยตาม ม.๗๔ จำเลยเถียงว่าที่จะเพิ่มโทษทวีคูณตาม ม.๗๔ ได้นั้นความผิดครั้งก่อนกับครั้งนี้จะต้องเป็นความผิดฐานเดียวซ้ำกันเช่นคดีของจำเลยนี้ ความผิดของจำเลยก่อนครั้งนี้ ๒ ครั้งจะต้องเป็นความผิดฐานรับของโจรเช่นเดียวกับความผิดในครั้งนี้ด้วย ถ้าความผิดครั้งก่อนเป็นความผิดคนละฐาน จะเพิ่มโทษจำเลยได้เพียง ม.๗๒ อีก ๑ ใน ๓ เท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องเพิ่มโทษทวีคูณตาม ม. ๗๔ นั้น ก.ม.แยกความผิดเป็น ๒ ประเภทคือความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายตามที่บัญญัติไว้ใน ก.ม.อาญา ม. ๒๔๙ ถึง ๒๕๙ ประเภทหนึ่ง และความผิดฐานประทุษร้ายต่อทรัพย์ตาม ม.๒๘๘ ถึง ๓๒๓ อีก ประเภทหนึ่ง เมื่อผู้กระทำผิดกระทำผิดซ้ำประเภทเดียวกันแล้วก็เพิ่มโทษตาม ม.๗๔ ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๕/๒๔๙๐ คดีระหว่างอัยการระยอง โจทก์นางติ๋ว ประมาณ จำเลย
พิพากษายืน

Share