คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับสามีเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาท จำเลยเป็นบุตรของผู้ร้อง เมื่อสามีของผู้ร้องถึงแก่กรรมไปโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกมรดกส่วนของตนให้แก่ผู้ใด ดังนั้น ส่วนที่เป็นของสามีจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทุกคน รวมทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาและจำเลยซึ่งเป็นบุตรด้วย เมื่อทรัพย์นั้นยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษา ย่อมมีสิทธิ์ที่จะยึดทรัพย์ดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้ได้ ผู้ร้องเป็นเพียงเจ้าของร่วมกันหามีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ไม่ ได้แต่จะร้องขอส่วนแบ่งหรือร้องขอให้กับเงินส่วนของตนออกเมื่อขายทรัพย์แล้วเท่านั้น
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์พร้อมด้วยคำขออุทธรณ์คนอนาถาระหว่างไต่สวน ก่อนศาลมีคำสั่ง แต่พ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว โจทก์ขอเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้วและไม่ขาดอายุอุทธรณ์ เพราะในระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับให้โจทก์ต้องวางเงินค่าธรรมเนียม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 679/2486 แล 22/2493)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์หลายรายการเพื่อขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ตามบัญชียึดทรัพย์อันดับ ๖ เครื่องรับโทรทัศน์ ๑ เครื่อง อันดับ ๗ จักรเย็บผ้า ๑ คัน และอันดับ ๙ เรือนไม้สองชั้นเลขที่ ๕/๖ หนึ่งหลังเป็นของผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าผู้ร้องกับนายไล่เล็งสามีเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทรวมกันทั้ง ๓ รายการ จะถือว่าเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวหาได้ไม่เมื่อสามีของผู้ร้องถึงแก่กรรมไปโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกมรดกส่วนของตนให้แก่ผู้ใด ดังนั้น ส่วนที่เป็นของสามีจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทุกคน รวมทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาและจำเลยซึ่งเป็นบุตรด้วย เมื่อทรัพย์ทั้ง ๓ รายการยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษา ย่อมมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ทั้ง ๓ รายการ เพื่อบังคับชำระหนี้ได้ ผู้ร้องเป็นเพียงเจ้าของร่วมกันหามีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ผิดได้ไม่ ได้แต่จะร้องขอส่วนแบ่งหรือร้องขอให้กับเงินส่วนของตนออกเมื่อขายทรัพย์แล้วก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่ามีปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้ร้องกล่าวในอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ยกขึ้นวินิจฉัย จึงขอให้ศาลฎีกาได้ยกขึ้นวินิจฉัยด้วย คือโจทก์ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ หลังจากนั้นได้มีการไต่สวนคำร้องดังกล่าวระหว่างการไต่สวนโจทก์แถลงว่าโจทก์หาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาลได้แล้วไม่ติดใจขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาต่อไป และได้นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลด้วย แต่วันที่โจทก์แถลงและวางเงินนั้นเกินกว่าระยะเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ได้แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความข้อนี้เห็นว่าโจทก์อุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์พร้อมด้วยคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาระหว่างไต่สวน ก่อนศาลมีคำสั่งแต่พ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้ว โจทก์ขอเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้วและไม่ขาดอายุอุทธรณ์เพราะในระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖ นั้นกฎหมายไม่ได้บังคับให้โจทก์ต้องวางเงินค่าธรรมเนียม ตามนัยคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ ๗๙/๒๔๘๖ ระหว่างนางพินหรือยุพิน ฉิมฉ่ำ โจทก์ นายแช่ม ฉิ่มฉ่ำ จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒/๒๔๙๓ ระหว่างนางเชย คชเสนี กับพวก โจทก์ นางทองอยู่ คชเสนี กับพวก จำเลย
พิพากษายืน.

Share