คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายห้อยโหนลงมาจากหน้าต่างเรือนของจำเลยในเวลาดึกดื่น (ผู้ตายกับพี่สาวจำเลยผูกสมัครรักใคร่กัน) ทั้งเป็นเวลาเดือนมืดและได้ลงมายืนประจันหน้ากับจำเลย พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่ยืนอาจทำร้ายจำเลย และไม่รู้ได้ว่าผู้นั้นไม่มีอาวุธร้ายแรงที่พอจะทำลายชีวิตจำเลยได้
เมื่อจำเลยแทงผู้ที่ยืนประจันหน้าไปเสียก่อนเช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชีวิตของตน อนึ่งแม้จะแทงโดยแรงโดยอาจแลเห็นผลว่าจะทำให้ผู้นั้นถึงตายได้ก็ตามก็เป็นการกระทำในเวลาฉุกเฉินจึงไม่เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ เป็นการกระทำที่ได้รับยกเว้นอาญาตาม ก.ม.อาญา ม.50

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจใช้อาวุธมีดแทงนายสมตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตาม ม. ๒๔๙
ครั้งแรกจำเลยให้การว่าใช้มีดแทงนายสมตายจริงโดยเข้าใจว่าเป็นคนร้ายเข้าลักทรัพย์ในบ้านจำเลย ๆ ป้องักนตัวและทรัพย์
ต่อมาจำเลยยื่นคำให้การใหม่ปฏิเสธตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าความจริงเป็นดังจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่าได้แทงขณะคนร้ายลงจากหน้าต่าง พอเท้าถึงดินจำเลยจึงได้เข้าแทงและเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวและทรัพย์เกินกว่าเหตุ แต่เจตนาของจำเลยมิได้ตั้งใจฆ่า พิพากษาว่าจำเลยผิดตาม ก.ม.อาญา ม. ๒๕๑-๕๐ แค่ให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี ตาม ม.๕๓ จำเลยเพียงอายุ ๑๘ ลดกึ่งคงจำ ๑ ปี และปราณีตาม ม.๕๙ ลดให้อีก ๑ ใน ๓ คงจำคุกจำเลยไว้ ๖ เดือน และให้รอการลงโทษจำเลยไว้ ๑ ปี
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่จำเลยกระทำไปนั้นพอสมควรแก่เหตุตาม ม.๕๐ แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้องโจทก์ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องปล่อยจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่ารูปคดีแสดงให้เห็นไปข้างจำเลยว่า จำเลยได้แทงนายสมใจขณะที่นายสมกับจำเลยยืนประจันหน้ากันอยู่ นายสมจะได้เงื้อมีดทำท่าจะแทงจำเลยจริงหรือไม่ก็ตาม แต่กริยาที่นายสมห้อยโหนลงมาจากหน้าต่างเรือนของจำเลยในดึกดื่น ทั้งเป็นเวลามืดและได้ลงมายืนประจันหน้ากับจำเลยเช่นนั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยเข้าใจว่าเป็นขะโมยขึ้นลักทรัพย์ และอาจจะทำร้ายจำเลยอันเป็นภยันตรายซึ่งเกิดขึ้นโดยผิด ก.ม. และจำเลยจะรู้ได้ไม่ว่านายสมไม่มีศาสตราวุธที่ร้ายแรงพอจะทำลายชีวิตจำเลยได้ ฉนั้นการที่จำเลยแทงเอานายสมเสียก่อนก็ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อป้องกันชีวิตของจำเลย แม้จำเลยจะได้แทงโดยแรง โดยอาจแลเห็นผลว่าจะทำให้นายสมถึงตายได้ แต่จำเลยได้กระทำในเวลาฉุกเฉินเช่นนั้น จะว่าจำเลยกระทำผิดสมควรแก่เหตุหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงได้รับยกเว้นอาญาตาม ก.ม. อาญา ม. ๕๐ พิพากษายืน

Share