คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการควบคุมค่าเช่ามีมติยินยอมให้ผู้ให้เช่าเข้าอยู่ในที่เช่าแล้วผู้ให้เช่ายังยอมให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปโดยผู้เช่าทำหนังสือขอผัดว่าจะออกไปใน 3 เดือนนับแต่สามีผู้ให้เช่ากลับจากต่างจังหวัดหรือถ้าขายบ้านได้ก่อนจะออกโดยเร็ว ดังนี้ ไม่ผูกมัดผู้ให้เช่าที่จะต้องยอมให้อยู่ไปตามที่ผัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง (ฟ้องเดือนกันยายน 2495) ว่า จำเลยเช่าเรือนของโจทก์ เลขที่ 56 ถนนดินสอ ตำบลตึกดิน อำเภอพระนคร จังหวัดพระนครเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้ทำหนังสือเช่า โจทก์ขอเลิกการเช่าและขอเรือนคืน จำเลยไม่ยอม โจทก์จึงได้ยื่นคำร้อง และคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าได้พิจารณาให้ความยินยอมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2492 ให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยเรือนหลังนี้ตามที่โจทก์ร้องขอ ปรากฏตามหนังสือแจ้งคำยินยอม ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2492 จำเลยได้ทราบมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าทั้งโดยทางเจ้าหน้าที่ และทางโจทก์แจ้งให้จำเลยออกไปจากเรือนพิพาท จำเลยขอผัดออกจากเรือนพิพาทพอมีเวลาจะหาที่อยู่ใหม่ได้ และก็ได้ขอผัดโจทก์มาเป็นเวลาช้านานแล้วที่สุดโจทก์ได้ยื่นคำขาดให้จำเลยออกไปจากเรือนพิพาท จำเลยก็เพิกเฉยเสีย จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากเรือนพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 30 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออก

จำเลยให้การรับว่า ได้เช่าเรือนพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยจริงเมื่อคณะกรรมการมีมติให้โจทก์อยู่เรือนพิพาท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2492 แล้วนั้น จำเลยไม่เคยขอผัดออกจากเรือนโจทก์ เวลานั้นโจทก์อยู่ต่างจังหวัดกับสามี โจทก์และตัวแทนพร้อมด้วยจำเลยจึงตกลงกันให้จำเลยเช่าเรือนพิพาทอยู่อาศัยต่อไป ถ้าสามีโจทก์กลับมารับราชการในจังหวัดพระนคร และจำเป็นต้องอยู่อาศัยเรือนนี้จำเลยยอมเลิกสัญญาเช่า ส่งมอบเรือนคืนโจทก์ จำเลยก็ชำระค่าเช่าเดือนละ 30 บาท ตลอดมา โจทก์เพิ่งงดไม่เก็บค่าเช่าเดือนกรกฎาคม 2495 นี้เอง จำเลยส่งค่าเช่าให้ทางธนาณัติ โจทก์ก็ไม่ยอมรับและตัดฟ้องว่า โจทก์หมดสิทธิจะถือมติคณะกรรมการมาบังคับขับไล่จำเลย เพราะโจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าอยู่อาศัยต่อไปอีกเกือบ 3 ปีจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน

ในการพิจารณาโจทก์อ้างเอกสาร และศาลสอบถามคู่ความ ต่างแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2495 ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไป

ได้ความตามคำฟ้องคำให้การ เอกสารที่โจทก์อ้าง และที่คู่ความต่างแถลงรับกันว่า จำเลยได้เช่าเรือนพิพาทของโจทก์เพื่ออยู่อาศัยค่าเช่าเดือนละ 30 บาท โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่า ขอเข้าอยู่ในเรือนพิพาท คณะกรรมการฯ ได้ให้ความยินยอมและจำเลยได้ทราบมติของคณะกรรมการแล้ว ดังที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การนั้น แต่จำเลยยังคงอยู่ในเรือนพิพาทนี้ตลอดมา โดยเสียค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 30 บาท ตามเดิม จนถึงเดือนกรกฎาคม 2495 โจทก์ไม่ยอมรับค่าเช่าจากจำเลย ทั้งนี้โดยโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในเรือนพิพาทต่อไป และได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากเรือนพิพาท ซึ่งจำเลยได้รับทราบแล้ว

เหตุที่จำเลยคงอยู่ในเรือนพิพาทต่อมาภายหลัง แต่รับทราบมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าแล้วนั้น ก็เนื่องจากเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความดังนี้

“วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2492 นางบุญทรง ดิษฐานนท์ (คือ จำเลย)

ขอทำสัญญาให้ไว้ว่า ถ้านายสง่า ไทยานนท์ สามีเจ้าของบ้าน (คือ โจทก์) ย้ายกลับเข้ามารับราชการอยู่กระทรวงหรือจังหวัดพระนครเมื่อไร ข้าพเจ้าจะรีบไปนอกบ้านที่เช่านี้โดยเร็วที่สุด ไม่ให้ช้ากว่า 3 เดือน

อนึ่ง ในระหว่างนี้ ข้าพเจ้ากำลังหาบ้าน ถ้าได้ก็จะออกจากบ้านเช่าโดยเร็ว

(ลงชื่อ) บุญทรง ดิษฐานนท์ ผู้เช่า”

โจทก์แถลงรับว่า ได้ยินยอมให้จำเลยอยู่ในบ้านพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขในเอกสาร จ.2 ดังกล่าวจริง และรับด้วยว่า สามีโจทก์ยังรับราชการอยู่ต่างจังหวัดในขณะนี้

ได้ความดังนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ปัญหาสำคัญที่โต้เถียงกันคงมีว่า หลังจากคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าได้มีมติแล้ว โจทก์ได้ให้จำเลยเช่าอยู่ใหม่ต่อไป หรือว่าโจทก์ให้จำเลยผัดเวลาออกไปจากเรือนพิพาท ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า สามีโจทก์อยู่ต่างจังหวัดก็ดี โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าอยู่เรือนพิพาทก็ดี หาสำคัญไม่เพราะคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าได้ยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่ ไม่ใช่สามีโจทก์และคณะกรรมการได้พิจารณาถึงความจำเป็นและยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่จนมีมติแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิอ้างมติความยินยอมนั้นได้ไม่มีเหตุที่ศาลจะไปเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าได้

ปัญหาที่ว่า โจทก์ให้เช่าใหม่ หรือให้จำเลยผัดเวลานั้นเมื่อพิเคราะห์เอกสาร จ.2 แล้ว เห็นว่า หาใช่สัญญาเช่าไม่ มีความหมายเพียงว่า จำเลยยินยอมจะออกไปจากเรือนพิพาทในเมื่อสามีโจทก์ย้ายเข้ามาในพระนคร และรับด้วยว่า ตลอดเวลานั้น จะพยายามหาบ้านอยู่ เพื่อออกไปจากบ้านพิพาทโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องผัดเวลาออกไปจากเรือนพิพาทนั่นเอง และเมื่อยอมให้จำเลยผัดอยู่ต่อไปจำเลยก็ต้องเสียค่าเช่า หาใช่เป็นเรื่องเช่ากันใหม่ไม่ ฉะนั้นเมื่อโจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าและได้บอกเลิกการเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะอยู่ต่อไปและไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ มติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่า ไม่มีบทกฎหมายกำหนดอายุเวลาสิ้นสุดข้อตัดฟ้องฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากเรือนพิพาทให้จำเลยเสียค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าเดือนละ 30 บาทให้โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากเรือนพิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามเอกสาร จ.2 ประกอบกับที่โจทก์แถลงรับในรายงานพิจารณาว่า ได้ยินยอมให้จำเลยอยู่ในบ้านพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขในเอกสาร จ.2 จริง ถือได้ว่า โจทก์ยอมให้ความผ่อนผันชั่วคราวตามเงื่อนไขในเอกสาร จ.2 นั้น ทั้งค่าตอบแทนในการให้ความผ่อนผันนั้น โจทก์ก็ยังคงได้รับจากจำเลยอยู่ เท่าค่าเช่าที่เคยได้รับมา เมื่อกำหนดเวลาหรือเหตุการณ์ตามเงื่อนไขยังไม่ปรากฏขึ้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องนี้ คือสามีโจทก์ยังรับราชการอยู่ต่างจังหวัดและไม่ปรากฏว่า จำเลยหาบ้านเช่าได้แล้ว เช่นนี้ ความผ่อนผันชั่วคราวของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นนิติกรรมอันหนึ่งซึ่งผูกพันโจทก์อยู่ ยังไม่สิ้นสุดลง โจทก์ยังขับไล่จำเลยในเวลานี้ยังไม่ได้ จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงของทนายทั้งสองฝ่ายตรวจปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาได้ความดังกล่าวมา การที่จำเลยได้อยู่อาศัยในเรือนพิพาทของโจทก์ต่อมาภายหลังแต่คณะกรรมการควบคุมค่าเช่ามีมติให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยเรือนพิพาทของตนได้แล้วนั้น ก็เนื่องจากจำเลยขอผัดต่อโจทก์จะออกไปตามข้อความที่ปรากฏตามเอกสาร จ.2 ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมตามนั้นและจำเลยคงเสียค่าเช่าให้โจทก์ต่อมาปัญหามีว่า การที่โจทก์ยอมผ่อนผันให้จำเลยอยู่อาศัยเรือนพิพาทเช่นนั้น จะเป็นการผูกพันโจทก์เพียงไรหรือไม่

เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยอยู่อาศัยเรือนพิพาทของโจทก์ต่อมา เป็นแต่เพียงโจทก์ยอมผันผ่อนให้จำเลยอยู่ได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงให้เช่ากันใหม่ไม่ ดังที่ศาลทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาชอบแล้ว แม้จำเลยจะเสียค่าเช่าให้โจทก์ ก็เป็นของธรรมดาเพราะจำเลยได้รับประโยชน์ในการอยู่อาศัย และก็คงเสียในอัตราเดิมนั่นเอง ทำนองเดียวกับเรื่องผู้กู้เงินขอผัดชำระก็ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินกู้เช่นเดียวกัน จะถือว่า การเสียค่าเช่าเป็นการตอบแทนในการผ่อนผันอันทำให้ผูกพันโจทก์หาได้ไม่ อีกประการหนึ่ง การที่โจทก์ยอมผ่อนผัน ก็เพียงแต่โจทก์ยังไม่ใช้สิทธินั้นเท่านั้น หาใช่เป็นการเจตนายอมเข้าผูกมัดตามความในเอกสารนั้นไม่ฉะนั้น แม้ขณะนี้สามีโจทก์จะยังรับราชการอยู่ต่างจังหวัด จำเลยยังหาบ้านเช่าไม่ได้ก็ดี โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีมาชอบแล้ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องกับความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับ บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาลพร้อมกับค่าทนาย 150 บาท แทนโจทก์

Share