แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนำไม้เคลื่อนที่ที่จะต้องมีใบเบิกทางตามความใน มาตรา39นั้น คือการนำเคลื่อนที่ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 38
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำไม้สักเคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางตาม มาตรา 39 แต่ตามฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความตาม มาตรา 38 แต่ประการใดเลย ดังนี้ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันนำไม้สักแปรรูปขนาดต่าง ๆ มีเนื้อไม้3.47 เมตรลูกบาศก์ เคลื่อนที่จากตำบลมะกอก อำเภอป่ายาง จังหวัดลำพูนผ่านตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพื่อไปยังตำบลปากบ่องอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยไม่มีใบเบิกทาง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 63 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 39,71 กฎกระทรวงเกษตรออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484(ฉบับที่ 4) ว่าด้วยการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ข้อ 1(1),(2)
จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิด ไม้ของกลางเป็นไม้ที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ไม้หวงห้ามและเป็นไม้ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำการเคลื่อนที่ก็ไม่ผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอพิพากษาได้แล้วงดสืบพยานโจทก์จำเลย วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้บรรยายตาม พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 38 จำเลยไม่อาจจะเข้าใจข้อหาได้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158(5) พิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามาตรา 39 แห่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นบทบังคับที่บัญญัติไว้เป็นหลัก มีข้อกำหนดและบทลงโทษสำเร็จบริบูรณ์ในตัวเอง ไม่ต้องอาศัยมาตราอื่น องค์ความผิดตามมาตรานี้จึงเป็นคนละส่วนกับมาตรา 38 ฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้พิจารณา มาตรา 38, 39 แล้วเห็นว่า ผู้ใดจะนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่จะต้องมีใบเบิกทางกำกับไปด้วยตามความในมาตรา 39 ก็ต่อเมื่อปรากฏความตามที่กล่าวไว้ใน มาตรา 38 ข้อ 1 หรือ 2 กล่าวคือจะต้องปรากฏว่าจะนำเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่นำออกตามใบอนุญาตไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้วตาม ข้อ 1 หรือนำไม้ที่นำออกโดยไม่ต้องรับอนุญาตไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วตามข้อ 2 ตามฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความตาม ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ของ มาตรา 38 แต่ประการใด
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น