แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนทำไม้เพื่อค้าขายเอากำไรแบ่งปันกันโดยตกลงกันว่าทำไม้เสร็จเมื่อใดก็มีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกัน ลักษณะของหุ้นส่วนเช่นว่านี้ย่อมเป็นหุ้นส่วนสามัญชนิดที่สัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้นแล้ว หุ้นส่วนรายนั้นก็ย่อมเลิกกันไปในตัว ดังความที่บัญญัติไว้ในมาตรา1055(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อทำไม้รายใดเสร็จไปแล้ว หุ้นส่วนในการทำไม้รายนั้นก็ย่อมเลิกกันและมีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกันตามที่ตกลงกันไว้เป็นเฉพาะรายๆ ไป
โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องเงินหุ้นส่วนในชั้นคิดบัญชี แต่โจทก์เสนอข้อพิพาทต่อศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลมา 50 บาท โดยขอให้ศาลสั่งให้เลิกหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยและชำระบัญชีทั้งๆ ที่หุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยได้เลิกกันและได้มีการคิดบัญชีกันตามที่ตกลงกันแล้วก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งให้เลิกหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลย และให้มีการชำระบัญชีกันอีกตามที่โจทก์ขอมาและไม่ชอบที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่โต้เถียงกันในชั้นคิดบัญชีนั้นให้ได้ด้วย เพราะโจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ประกอบกับคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอบังคับในเรื่องเงินหุ้นส่วนที่พิพาทนั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนทำไม้เพื่อค้าขายเอากำไรแบ่งปันกันเริ่มแต่ พ.ศ. 2491 โดยร่วมกันจัดการและช่วยกันลงทุนทำไม้เสร็จเมื่อใดก็มีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกัน การเข้าหุ้นระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมาย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2499 โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจะเข้าจัดการทำไม้เช่นที่เคยปฏิบัติมาคนละปี ในปีใดหุ้นส่วนผู้ใดเป็นผู้จัดการผู้นั้นต้องจัดหาทุนมาทำไม้เองแต่ผู้เดียว หุ้นส่วนอีกผู้หนึ่งถ้าประสงค์จะนำเงินมาร่วมลงทุนด้วยหุ้นส่วนผู้จัดการก็จะคิดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 ต่อเดือน ส่วนในการแบ่งกำไรขาดทุนกันนั้นให้หักค่าดอกเบี้ย 2 % ต่อเดือนจากต้นทุนทั้งหมดเสียก่อน แล้วจึงแบ่งผลกำไรหรือขาดทุนกันคนละครึ่ง ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2501 จำเลยทำไม้ยาง ตำบลลาดยาว ได้จำนวน 371 ท่อน ราคา 6 แสนบาทเศษโจทก์ขอคิดบัญชีกับจำเลยเพื่อแบ่งปันกำไรกันเช่นที่เคยปฏิบัติมา และได้ตกลงยอมรับแบ่งไม้คนละครึ่งเป็นการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในการคิดบัญชีครั้งนี้จำเลยไม่ยอมรับทราบเงินค่าขายไม้ยางซึ่งบริษัทโรงเลื่อนจักร์เรืองวงษ์ จำกัด จ่ายเช็คไม่มีเงินจำนวน 300,000 บาท อีกทั้งปฏิเสธหุ้นไม้สักจำนวน 39 ราย ซึ่งโจทก์ลงทุนให้จำเลยซื้อสิทธิการได้ไม้สักจากข้าราชการรายละ 40 ลูกบาศก์เมตร ว่ามิใช่เป็นไม้ที่โจทก์ได้ออกเงินลงทุนให้ทั้งหมด คงรับว่ามีเพียง 9 รายเท่านั้นที่เป็นเงินที่โจทก์ออกให้ไปลงทุน และไม่ยอมแบ่งปันกำไรให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามข้อตกลง และตามความจริงโดยจำเลยทำบัญชีเท็จแสดงรายจ่ายเกินความจำเป็น พฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยได้ปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อหุ้นส่วนโดยล่วงละเมิดข้อตกลงในการแบ่งกำไรจนเห็นได้ว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนนี้ขืนทำต่อไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวไม่มีหวังกลับฟื้นตัวได้อีก จึงเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามเหตุในมาตรา 1057 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงขอให้ศาลสั่งให้เลิกหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองและชำระบัญชีโดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ชั้นชี้สองสถาน โจทก์จำเลยรับกันว่า การทำไม้ในปี พ.ศ. 2500 และพ.ศ. 2501 ได้ทำเสร็จไปแล้ว และได้คิดบัญชีกันเรียบร้อยแล้วการทำไม้ทั้งสองครั้งนี้โจทก์จำเลยแถลงว่า เมื่อการเป็นหุ้นส่วนคิดบัญชีเสร็จสิ้นกันไปแล้ว จึงไม่ต้องขอให้ศาลสั่งเลิกหรือคิดบัญชีกันอีก ฝ่ายใดมีสิทธิจะเรียกร้องเงินที่คิดค้างกันอย่างไรจะได้ว่ากล่าวกันต่อไป คงเหลือข้ออ้างและโต้เถียงกันในเรื่องรายไม้ 40 คิว ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีรวม 39 ราย และจำเลยโต้เถียงว่ามิได้เป็นหุ้นส่วน ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนในประเด็นที่โต้เถียงกันนั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าไม้ 39 รายเป็นไม้หุ้นส่วนที่หามาได้ในปี พ.ศ. 2498 คดีนี้โจทก์ฟ้องเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชีไม้ 39 ราย เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหุ้นในไม้เพียง 9 ราย และไม้คิดบัญชีกันไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องเลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชีไม้ 9 รายอีก พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม้รายพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยเข้าหุ้นกัน 38 รายซึ่งยังมิได้คิดบัญชีกัน และเห็นว่าเป็นการเหลือวิสัยที่หุ้นส่วนนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้ตามเหตุในมาตรา 1057 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เลิกห้างหุ้นส่วนในการค้าไม้สักระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองและตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีแบ่งเงินหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ลักษณะหุ้นส่วนของโจทก์จำเลยที่ได้เข้าหุ้นทำไม้เพื่อขายเอากำไรแบ่งปันกันโดยตกลงกันว่าทำไม้เสร็จเมื่อใดก็มีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกันตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง และตามที่แถลงรับกันมาดังกล่าวข้างต้นนั้น ย่อมเห็นได้ว่าลักษณะการเข้าหุ้นส่วนของโจทก์จำเลยเช่นนี้เป็นเรื่องสัญญากันว่า ถ้าทำไม้รายใดเสร็จไปก็ให้มีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกันสำหรับไม้รายที่ทำเสร็จไปนั้น ดังนั้นหุ้นส่วนการทำไม้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นหุ้นส่วนสามัญชนิดที่สัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้นแล้ว หุ้นส่วนรายนั้นก็ย่อมเลิกกันไปในตัว ดังความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1055(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อทำไม้รายใดเสร็จไปแล้วหุ้นส่วนในการทำไม้รายนั้นก็ย่อมเลิกกันโดยมีการคิดบัญชีต้นทุนกำไรกันตามที่ตกลงกันไว้เป็นเฉพาะราย ๆ ไป เมื่อหุ้นส่วนการทำไม้ระหว่างโจทก์จำเลยมีลักษณะดังเช่นว่ามานี้แล้วตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องฯลฯ นั้น จึงเป็นเรื่องพิพาทโต้เถียงกันในชั้นคิดบัญชีอันเป็นเวลาภายหลังที่ได้ทำไม้เสร็จไปแล้ว กรณีพิพาทกันในชั้นคิดบัญชีนี้โจทก์ชอบที่จะเสนอข้อพิพาทเป็นคดีมีทุนทรัพย์โดยเสียค่าขึ้นศาลมาตามทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน แต่นี่โจทก์กลับเสนอข้อพิพาทอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลมา 50 บาท โดยขอให้ศาลสั่งให้เลิกหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยและชำระบัญชีทั้ง ๆ ที่หุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยได้เลิกกันและได้มีการคิดบัญชีกันตามที่ตกลงกันดังกล่าวมาแล้ว เมื่อโจทก์เสนอคดีมาในรูปนี้ ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งให้เลิกหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยและให้มีการชำระบัญชีกันอีกตามที่โจทก์ขอมา และไม่ชอบที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่โต้เถียงกันในชั้นคิดบัญชีนั้นให้ได้ด้วย เพราะโจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ประกอบกับคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอบังคับให้จำเลยใช้เงินคืน ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองต่างได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่โต้เถียงกันมา จึงไม่ต้องด้วยกระบวนพิจารณา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง โดยให้ยกฟ้องโจทก์ตามนัยดังกล่าว