คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่พนักงานอัยการโจทก์ขอให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวมมากับฟ้องคดีอาญาที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วยนั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงินเป็นให้ใช้น้อยลง ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๓ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จประกาศโฆษณายกป้ายชื่อบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่าบริษัทสโนดรีม จำกัด มีวัตถุประสงค์ค้าน้ำแข็ง ฯ มีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้อำนวยการจำเลยที่ ๒ เป็นรองผู้อำนวยการ รับสมัครคนเข้าทำงานในบริษัทหลายตำแหน่ง เพื่อมุ่งเอาทรัพย์สินของประชาชนที่มาสมัครงานโดยจำเลยเรียกเงินเป็นค่าค้ำประกันบ้าง ค่าหุ้นส่วนบ้าง จำเลยได้ทรัพย์เพราะการหลอกลวงเป็นเงิน ๘๙,๔๐๐ บาท จากประชาชน ๔๘ คน
ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองสมคบร่วมกันทุจริตหลอกลวงประชาชนกว่า ๑๐ คนขึ้นไปประกอบการงานในหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โดยจำเลยไม่ใช้ค่าแรงงานค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นบ้าง ใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกันบ้าง เป็นจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายเป็นค่าจ้างตามที่ตกลงแก่บุคคลดังกล่าวอีก ๑๐,๘๐๐ บาท เมื่อจำเลยทั้งสองหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนรวม ๑๐๖,๒๐๐ บาทแล้ว ก็หลบหนีไป เหตุเกิดที่ตำบลสุริวงศ์ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑,๓๔๒,๓๔๓,๓๔๔ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๑๐๖,๒๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยที่ ๒ ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑,๓๔๒,๓๔๓,๓๔๔ จำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพลดให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๑๐๖,๒๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดตัดสินว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องนั้นไม่มีเหตุควรแก้ไข ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ๑๐๖,๒๐๐ บาท ยังไม่เป็นการถูกต้องนั้น คดีได้ความว่า เรื่องนี้มีผู้เสียหายหลายสิบคน ผู้เสียหายมาเป็นพยานให้การต่อศาลไม่ครบถ้วนจำนวนคน จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธการกระทำผิด ดังนั้น จำนวนเงินที่ว่าสูญเสียไปสำหรับผู้เสียหายที่ไม่ได้มาเป็นพยานให้การต่อศาลว่าเท็จจริงประการใดจึงเอาเป็นที่แน่นอนเด็ดขาดตามฟ้องยังไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำนวนเงินของผู้เสียหายส่วนนี้ ยังไม่ควรที่จะอยู่ในบังคับให้จำเลยต้องรับผิดในเรื่องนี้ ทั้งคำนวณแล้วผู้เสียหายตามบัญชีท้ายฟ้องมาเป็นพยานให้การต่อศาลเพียง ๑๙ คน รวมจำนวนเงินค่าหุ้น ค้ำประกัน ๑๗,๕๐๐ บาท ค่าแรงงาน ค่าจ้าง ๘,๗๕๐ บาท แต่เฉพาะค่าหุ้น ค่าประกันของนายตักเหม็ง นายแสง นายทัดคอง ผู้เสียหายนั้น ตามฟ้องกล่าวเกินไปรวม ๖,๐๐๐ บาท เมื่อหักออกแล้วคงเหลือเป็นเงินค่าหุ้น ค่าประกันเป็นเงิน ๓๑,๕๐๐ บาท รวมทั้งค่าแรงงาน ค่าจ้างเป็นเงิน ๔๐,๒๕๐ บาท ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ควรเรียกร้องแทนผู้เสียหายได้ นอกนั้นไม่ควรบังคับให้ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงินเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายเฉพาะที่มาเป็นพยานใหม่ความสัตย์จริงต่อศาลเท่านั้นเป็นเงิน ๔๐,๒๕๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินอีก ๕๙,๙๕๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายอีก ๒๙ คน ตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายรวมมากับฟ้องคดีอาญา ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งตามมาตรา ๔๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคารวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น กฎหมายให้ถือเรื่องการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา ไม่ว่าราคาทรัพย์นั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อใช้เงินเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่ผู้เสียหายเฉพาะที่มาเป็นพยานให้ความสัตย์จริงต่อศาลอันมีจำนวนเงินน้อยลง ส่วนข้อจำคุกคงยืนตาม ดังนี้ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยไม่เกิน ๕ ปี โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา ๒๑๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๖/๒๔๘๒ ระหว่างอัยการจังหวัดระนอง โจทก์ ขุนวิทยุเวค (ฉัตร พู่สุวรรณ์) กับพวก จำเลย ฎีกาของโจทก์เป็นข้อเท็จจริง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์เสีย

Share