คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวดังนั้นคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนมารดาโจทก์หรือไม่การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นเพียงใส่ชื่อแทนมารดาโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นขึ้นวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142ข้อนี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)และเมื่อศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยพิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันก่อนกรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243ประกอบด้วยมาตรา247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตึกแถวเลขที่ 455/2 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตึกแถวเลขที่ 455/5 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ เมื่อประมาณต้นปี 2530 จำเลยได้ทุบผนังกั้นระหว่างห้องของโจทก์จำเลยแล้วทำการก่อสร้างผนังกั้นห้องขึ้นใหม่ด้วยอิฐฉาบปูนซิเมนต์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และเมื่อโจทก์ได้ก่อสร้างกำแพงอิฐกั้นดาดฟ้าตึกแถวของโจทก์กับจำเลย จำเลยสมคบกับพวกทุบทำลายกำแพงอิฐดังกล่าวโดยเป็นเหตุให้กำแพงอิฐพังทลายลงมาทั้งหมดและเศษอิฐได้ตกหล่นลงมาถูกกระเบื้องหลังคาซึ่งอยู่ชั้นสองของบ้านโจทก์แตกเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนผนังตึกแถวที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ชดใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดิน ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและให้จำเลยก่อสร้างกำแพงอิฐกั้นดาดฟ้าตึกแถวของโจทก์กับจำเลยแทนที่กำแพงเดิมที่จำเลยทุบทำลาย
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยรื้อผนังตึกแถวเดิมแล้วสร้างผนังตึกแถวใหม่โดยโจทก์ยินยอมและอยู่ภายในเขตที่ดินของจำเลยกำแพงที่โจทก์สร้างล้มลงเอง จำเลยมิได้ทุบทำลายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง กระเบื้องหลังคาของโจทก์ถูกกำแพงล้มพังแตกเสียหาย ค่าเสียหายไม่เกิน 1,000 บาทฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าบ้านและที่ดินตามฟ้องเป็นของนางนันทามารดาโจทก์ โจทก์เป็นเพียงตัวแทนผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การศาลเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งในโฉนดมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่กลับให้การยอมรับว่าจำเลยไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จริง ดังนั้น คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนมารดาโจทก์หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นเพียงใส่ชื่อแทนมารดาโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นขึ้นวินิจฉัยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สำหรับการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบเมื่อเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็น ก็จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ ทั้งกรณีมิใช่เป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อนี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) และเมื่อศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยพิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันก่อนกรณีจึงมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share