แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมศุลกากรและกระทรวงมหาดไทยได้ตกลงกันมอบหมายให้คณะกรมการอำเภอชายฝั่งทะเลที่ไม่มีนายด่านศุลกากร ทำหน้าที่เป็นายด่านศุลกากรแทนดังนี้ เมื่อสมุหบัญชีอำเภอ ซึ่งเป็นคณะกรมการอำเภอได้กระทำหน้าที่นายด่านศุลกากรแทน ได้จดข้ดความเท็จและทำหลักฐานเท็จรับรองการขนสินค้าขึ้นท่าอันเป็นการเสียหายแก่กรมศุลกากร จึงเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จึงเป็นความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 230
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นามุหบัญชีและเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าพนักงานศุลกากรประจำกิ่งอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยที่ ๒ เป็นนายเรือควบคุมเรือยนต์อุดมพาณิช ๕ ท.บ.๔๙๙๓ เรือค้าชายฝั่ง จำเลยทั้งสองสมคบกันกระทำผิดโดยจำเลยที่ ๒ ได้เอาสมุดบัญชีสินค้าประจำเรือ ให้จำเลยที่ ๑ บันทึกข้อความเท็จลงในสมุดบัญชีสินค้าประจำเรือ เป็นใจความว่าน้ำตาลทรายแดง ๑๐๕ กระสอบน้ำตาลทรายขาว ๒๕ กระสอบ ซึ่งไปขอขึ้นที่ท่าสงขลานั้น ได้ขนขึ้นที่ท่าทับสะแกแล้ว เนื่องจากเรือยนต์ชำรุด ไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปโดยทันทีได้ ซึ่งเป็นความเท็จ ฯลฯ ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้ง ๒ ผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ และปรากฎตามหลักฐานว่า กรมศุลกากรได้มอบหมายให้คณะกรมการอำเภอชายฝั่งทะเลที่ไม่มีนายด่านกรมศุลกากร ทำหน้าที่เป็นนายด่านศุลกากรแทน โดยมีข้อตกลงเป็นทางราชการระหว่างกรมศุลกากรกับกระทรวงมหาดไทย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการนี้ การที่จำเลยที่ ๑ จดข้อความเท็จและกระทำหลักฐานเท็จเป็นเอกสารรับรองการขนสินค้ารายนี้ขึ้นอันเป็นการเสียหายแก่กรมศุลกากร จึงเป็นความผิดตาม ก.ม.อาญามาตรา ๒๓๐ ตามฟ้อง และการที่จำเลยที่ ๒ ไม่นำสินค้าน้ำตาลทราย ๒ รายนี้ไปขึ้นที่ท่าสงขลาตามที่ได้รับอนุญาต และฟังไม่ได้ว่านำไปขึ้นที่ท่าทุ่งประดู่ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงถือว่าจำเลยที่ ๒ ได้เปลี่ยนทางเดินเรือโดยมิได้พฤติการณ์พิเศษ จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๖๖ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร ๒๔๖๙ อีกกะทงหนึ่ง
จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดตามก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓๐ จำเลยที่ ๒ ผิดตามมาตรา ๖๖ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร ๒๔๖๙ อีกกะทงหนึ่ง ฯลฯ