คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินตามคำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วนั้นเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นว่าผู้อื่นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ได้ยึดไว้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ 5670 โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดให้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งโอนที่ดินดังกล่าวให้นายพิรุณก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้เพียง 7 วัน แล้วนายพิรุณได้โอนขายให้นายบัวหลวง นางละอองบุตรเขยและบุตรสาวของจำเลยที่ 2 ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยจำเลยที่ 2 กับนายพิรุณนายบัวหลวงนางละอองสมคบกันโอนทรัพย์ต่อกันโดยรู้อยู่ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉล ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ทรัพย์ที่โจทก์ขอให้ยึดไม่ใช่ของจำเลยจึงยึดไม่ได้ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังคำร้องของโจทก์ ก็เพียงพอที่จะให้เห็นในเบื้องต้นว่าทรัพย์ยังเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ ชอบที่ศาลจะสั่งยึดได้ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ไว้พิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อปรากฏว่าผู้อื่นมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่โจทก์ขอให้ยึด ศาลจะสั่งยึดโดยถือว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ตามคำร้อง ของโจทก์ไม่ได้ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้พิสูจน์กัน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ไว้พิจารณา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินตามคำร้องของโจทก์แล้วนั้น หากทรัพย์สินที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิที่จะขอให้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 และถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาโต้แย้งคำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าวนั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นฎีกาที่จะรับไว้พิจารณา

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2

Share