แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์โดยการฉกฉวยซึ่งหน้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) บทหนึ่ง และเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นการกระทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามมาตรา 336 วรรคแรกอีกบทหนึ่ง กรณีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90 ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยอัตราโทษชั้นสูงของมาตรา 335 (7) และ 336 วรรคแรกนั้นเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี แต่มาตรา 335 (7) มีโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จึงมีบทลงโทษหนักกว่าต้องใช้มาตรา 335(7) เป็นบทลงโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์เอาสร้อยคอทองคำ ๑ เส้น พระเลี่ยมทองคำ ๑ องค์ ของนางจรวย ธงชัย ไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฉกฉวยเอาทรัพย์ดังกล่าวไปซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๐, ๓๓๕ (๗), ๓๓๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๒๕ มาตรา ๑๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๖ จำคุกจำเลยไว้คนละ ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกไว้คนละ ๑ ปี อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนพ.ศ.๒๔๙๔ ที่แก้ไขใหม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางคนละ ๑ ปีนับแต่วันถูกจับตัว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่าคงมีปัญหาข้อกฎหมายในชั้นนี้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์โดยการฉกฉวยซึ่งหน้าการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๗)บทหนึ่งและเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นการกระทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๖ วรรคแรกอีกบทหนึ่งการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำผิดปรากฏว่าบทมาตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๗) และ ๓๓๖ วรรคแรกมีโทษขั้นสูงเท่ากันคือจำคุก ๕ ปีแต่มาตรา ๓๓๕ (๗) มีโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป ดังนั้นมาตรา ๓๓๕ (๗) จึงมีบทลงโทษหนักกว่ามาตรา ๓๓๖ วรรคแรกชอบที่ศาลจะใช้มาตรา ๓๓๕ (๗) เป็นบทลงโทษที่ศาลล่างทั้งสองใช้มาตรา ๓๓๖ วรรคแรกเป็นบทลงโทษจำเลยทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๗), ๓๓๖ วรรคแรก ๘๓ การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๗) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.