คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2705/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 3 และจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า หลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาแล้ว โจทก์ที่ 4ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังด้วยถึงแก่กรรม ไม่ปรากฏว่าทายาทหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 4 หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ได้ยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 4 และจำเลยทั้งสี่ก็มิได้มีคำขอให้ศาลมีหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 4 ภายในเวลากำหนดหนึ่งปีนับแต่ความปรากฏแก่ศาล จึงต้องจำหน่ายคดีสำนวนหลังออกจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนตามที่ระบุไว้ในสำนวนแรก
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ รวม 4 แปลงมากว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้รถแทรกเตอร์ทำถนนบุกรุกที่นาของโจทก์ทั้งห้าเสียหาย โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ควบคุมดูแลให้ดี ขอให้จำเลยทั้งห้าปิดถนนดังกล่าวห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ กับให้ร่วมกันนำดินที่ยกขึ้นเป็นถนนออกไปและทำที่นาของโจทก์ให้เหมือนเดิม หากไม่ทำก็ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทั้งห้าบุกรุเข้าไปแผ้วถางป่าในทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์การตัดถนนพูนดินได้กระทำไปตามแนวเขตที่สาธารณประโยชน์คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ว่า โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 1 แปลง ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดปักหลักเขตและป้ายห้ามโจทก์เข้าทำประโยชน์ จำเลยที่ 4 แจ้งว่าโจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับทำเลเลี้ยงสัตว์และจำเลยที่ 5 ได้เรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์คืนเพื่อแก้ไข อ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์บางส่วน ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์พิพาท ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครอง ให้จำเลยเพิกถอนหลักเขตและป้ายในที่พิพาท
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์บุกรุกแผ้วถางป่าอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์ที่ 4 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับทำเลเลี้ยงสัตว์บางส่วน คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน สำนวนแรกให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท แทนจำเลย และสำนวนหลังให้โจทก์ที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 500 บาท แทนจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันนำดินที่ยกเป็นถนนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมายจ.1 ของโจทก์ที่ 1 และตามเอกสารหมาย จ.3 ของโจทก์ที่ 2 ออกไปจากที่ดินดังกล่าวและทำที่ดินของโจทก์ให้เหมือนเดิมภายในกำหนด 30วัน หากไม่ปฏิบัติก็ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันพ้นกำหนด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ1,200 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยทั้งห้าในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และให้จำเลยทั้งสี่ในสำนวนหลังร่วมกันถอนหลักเขตและป้ายออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.13 ของโจทก์ที่ 4 ห้ามจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวและให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 800 บาท
โจทก์ที่ 3 และจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2530 ว่าหลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาแล้ว โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังด้วยถึงแก่กรรม และไม่ปรากฏว่าทายาทหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 4 หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ได้ยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 4 และจำเลยทั้งสี่ก็มิได้มีคำขอให้ศาลมีหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 4 ภายในเวลากำหนดหนึ่งปีนับแต่ความปรากฏแก่ศาล จึงให้จำหน่ายคดีสำนวนหลังออกจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 มีเหตุผลน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งห้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทตามแผนที่พิพาทที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3นำชี้เป็นของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ทางราชการเพิ่งรังวัดปักหลักเขตแสดงอาณาเขตที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ขึ้นภายหลัง และไปทับที่ดินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นการที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันสร้างถนนผ่านไปบนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โดยไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่นอนว่าที่ดินที่สร้างทางผ่านเป็นที่ดินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงประมาทเลินเล่อ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งห้าที่โต้เถียงในเรื่องค่าเสียหายว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เสียหายไม่เกิน 500 บาท และ 250 บาท ตามลำดับนั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เบิกความว่า ถ้าจะทำนาที่ทำเป็นถนนกลับสู่สภาพเดิมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อยรายละ 15,000 บาทฝ่ายจำเลยไม่นำสืบโต้แย้ง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 รายละ 5,000 บาท ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งห้าที่ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเป็นข้าราชการกระทำการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งทางราชการมอบหมายเป็นการกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หากศาลฎีกาจะฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวนั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งห้ามิได้กล่าวเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกห้ามจำเลยทั้งห้ารบกวนในการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 3 ตามแผนที่พิพาท เอกสารหมาย จ.2และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันนำดินที่ยกขึ้นเป็นถนนบนนาของโจทก์ที่ 3ออกไป แล้วทำที่นาให้เหมือนเดิมภายในกำหนด 30 วัน หากจำเลยไม่ทำให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3เป็นเงินรายละ 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยทั้งห้าให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สำหรับสำนวนหลังให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา.

Share