คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ในหน้าที่ เพียงแต่การที่โจทก์มิได้ระบุคำว่า”โดยทุจริต” ไว้ในคำฟ้อง หาทำให้กลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์เสมอไปไม่ เพราะถ้าโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดมาในฟ้องประกอบด้วยข้อความอื่นๆ ที่กฎหมายต้องการแล้วฟ้องนั้นก็สมบูรณ์
เรื่องนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะประโยคที่กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจ เบียดบังเงินของทางราชการ ฯลฯ ไป ย่อมแสดงให้เห็นชัดถึงลักษณะของการกระทำโดยทุจริตของจำเลยแล้วเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2502)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 147 จำเลยรับชั้นสอบสวน ลดโทษให้ 1 ปี ตามมาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่จำเลยยักยอกไป 81,171.44 บาท แก่ทางราชการด้วย

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยต่อสู้มาทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์บรรยายองค์ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ในหน้าที่ไม่ครบถ้วน เพราะไม่ได้บรรยายคำว่า “โดยทุจริต” หรือข้อความอันแสดงความหมายถึงการกระทำที่แสดงว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นลงในคำฟ้อง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ พิจารณาตามข้อความในตัวบทมาตรา 147 และ 1(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว เห็นว่า เพียงแต่การที่โจทก์มิได้ระบุคำว่า “โดยทุจริต” ไว้ในคำฟ้องนั้น หาใช่จะทำให้ฟ้องกลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์เสมอไปไม่ เพราะตามหลักแห่งการบรรยายฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ถ้าโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดมาในฟ้องประกอบด้วยข้อความอื่น ๆ ที่กฎหมายต้องการแล้ว ฟ้องนั้นก็ย่อมสมบูรณ์ได้ คำฟ้องในคดีนี้เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วเห็นได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องรวมตลอดถึงการที่กล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำการโดยทุจริต หรืออีกนัยหนึ่ง จำเลยกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะประโยคที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจเบียดบังเงินของทางราชการ ฯลฯ ไป ก็แสดงให้เห็นชัดถึงลักษณะของการกระทำโดยทุจริตของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share