คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยไม่มีระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างเป็นของตนเอง จึงนำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ของกระทรวงการคลังมาใช้บังคับโดยอนุโลมตลอดมา จนถึง พ.ศ. 2521 จำเลยจึงได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับเงินบำเหน็จประกาศใช้บังคับ แต่ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 กำหนดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ใช้แก่ราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายเป็นการทั่วไป จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งจึงหามีอำนาจที่จะยกเลิกเพิกถอนระเบียบดังกล่าวไม่ แต่มีอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจำเลย มาตรา 15(3)และมาตรา 18 ที่จะวางข้อบังคับเกี่ยวกับเงินบำเหน็จและเงินรางวัลของจำเลยเอง ซึ่งเมื่อได้ประกาศใช้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 แล้วย่อมมีผลเท่ากับไม่นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลมต่อไป ดังนั้น จะนำความในข้อ 5 วรรคท้าย และข้อ 6 ของระเบียบปี พ.ศ. 2502 ของกระทรวงการคลังมาใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้ การจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสิบสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุจำเลยหยุดดำเนินกิจการโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ครบตามกฎหมายและจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ไม่ครบตามข้อบังคับ ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่า ค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้โจทก์นั้นมิใช่เงินเดือน โจทก์ไม่มีสิทธินำเอาเงินค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือน มาเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จและค่าชดเชยได้ โจทก์แต่ละคนได้รับเงินทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยจากจำเลยไปแล้วเป็นการซ้ำซ้อนและรับเกินไปกว่าที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับ หากศาลฟังว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและหรือเงินบำเหน็จเพิ่มแก่โจทก์แล้ว ก็ขอให้หักเอาจากเงินส่วนที่โจทก์แต่ละคนรับเกินไปจากจำเลย โจทก์แต่ละคนจึงไม่มีสิทธิรับเงินใด ๆ จากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าสิบสองพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งห้าสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ทั้งห้าสิบสองไม่มีสิทธินำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จและค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบสอง เป็นประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน ซึ่งเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ทุกคน ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ทั้งตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.3 ให้ความหมายของคำว่า “เงินเดือน”ว่า หมายถึง “เงินที่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงาน รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลาโบนัส เบี้ยเลี้ยง เบี้ยกรรมการหรือประโยชน์อย่างอื่น” เมื่อค่าครองชีพเป็นเงินซึ่งจำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ทั้งห้าสิบสอง ค่าครองชีพจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “เงินเดือน” ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว หาใช่เป็นประโยชน์อย่างอื่นตามข้อยกเว้นไม่ เพราะฉะนั้น การคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จของโจทก์ทั้งห้าสิบสอง จึงต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ต้องใช้ควบคู่ไปกับข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญผู้อำนวยการและพนักงานองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2515 ซึ่งข้อ 4 ระบุไว้ว่า ให้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ของกระทรวงการคลังแก่ผู้อำนวยการและพนักงานองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปโดยอนุโลม…และระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ข้อ 5 วรรค 3 ระบุว่า ในกรณีลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงาน…ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่พึงได้รับอยู่ตามระเบียบนี้เท่าใด ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้นและข้อ 6 ระบุว่า ลูกจ้างผู้ใดต้องออกจากงานเพราะยุบเลิกหรือตัดทอนงานให้ได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ…ให้ถือเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตามข้อ 5 การที่โจทก์ทั้งห้าสิบสองได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยทั้งสองจำนวนจึงเกินไปกว่าสิทธิที่จะได้รับ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แต่เดิมมาจำเลยไม่มีระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างเป็นของตนเองจึงได้นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 ตามเอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การ ซึ่งเป็นระเบียบการที่ออกโดยมติคณะรัฐมนตรีมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังปรากฏตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1/2508 ลงวันที่ 30 กันยายน 2508 เอกสารหมายเลข 1ท้ายคำให้การ ข้อบังคับของจำเลย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2515 ลงวันที่18 สิงหาคม 2515 เอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การ และข้อบังคับของจำเลย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2516 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2516 เอกสารหมายเลข 4 ท้ายคำให้การตลอดมา จนถึง พ.ศ. 2521 คณะกรรมการองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15(3)แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498ทั้งนี้ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับเงินบำเหน็จ และได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2521เป็นต้นมาดังปรากฏตามข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 เอกสารหมายเลข 5 ท้ายคำให้การ ความเป็นมาของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยเป็นดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างพ.ศ. 2502 กำหนดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้แก่ราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายเป็นการทั่วไป จำเลยเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจำเลย ฉะนั้น จำเลยจึงหามีอำนาจที่จะยกเลิกเพิกถอนระเบียบฯ ดังกล่าวไม่ แต่มีอำนาจตามมาตรา 15(3) และมาตรา 18ที่จะวางข้อบังคับเกี่ยวกับเงินบำเหน็จและเงินรางวัลของจำเลยเองซึ่งเมื่อได้ประกาศใช้ข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 แล้ว ย่อมมีผลเท่ากับไม่นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลมต่อไป ซึ่งจำเลยเองก็ได้แถลงไว้ในวันนัดพิจารณาว่า จำเลยได้ใช้ข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2521 ด้วย ดังนั้น จะนำความในข้อ 5 วรรคท้ายและข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งห้าสิบสองไม่ได้ กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยคดีนี้ ต้องบังคับตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวข้อ 9 ระบุว่า พนักงานซึ่งออกจากงานตามข้อ 8 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และให้ถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย…เห็นว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยฉบับดังกล่าว ข้อ 8 ไม่จำกัดแต่เฉพาะกรณีจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อเลิกจ้างเท่านั้น แต่พนักงานของจำเลยซึ่งออกจากงานโดยการลาออกหรือหย่อนความสามารถก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานด้วยดีตลอดมาจนออกจากงาน ถือได้ว่าเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย ที่ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าการจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ เป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ไม่มีผลบังคับจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบสองต่างหาก อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โจทก์ที่ 17 ที่ 19 และที่ 37 มีคำขอดอกเบี้ยในค่าชดเชยมาตั้งแต่วันฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในส่วนนี้นับแต่วันเลิกจ้าง จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง และสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 10 ขอให้จ่ายเงินบำเหน็จเป็นเงินคนละ 2,700 บาทและ 5,600 บาท ตามลำดับ แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เป็นเงินคนละ7,200 บาท และ 5,160 บาท ตามลำดับ นั้นเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเช่นเดียวกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 2,700 บาท แก่โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 5,600 บาท ให้จ่ายดอกเบี้ยในเงินค่าชดเชยสำหรับโจทก์ที่ 17 ที่ 19 และที่ 37 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share