คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกล่าวข้อความว่า”โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก” ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคารย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคลซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อเป็นคนไม่ดีทะเลาะกับสามีมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกันหรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชาหรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้ โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะ ไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น หนักเกินไปควรให้ปรับจำเลย 5,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาลาดพร้าว ซอย 136 โดยมีจำเลยเป็นผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายอาณัติ ซิ้มสำอางค์ประจักษ์พยานเพียงปากเดียวเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กล่าวข้อความตามฟ้อง เมื่อพิจารณาคำเบิกความของประจักษ์พยานปากนี้ด้วยความระมัดระวังแล้ว เห็นว่า พยานเป็นญาติกับโจทก์เมื่อได้รับฟังการกล่าวถึงสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับโจทก์แล้ว วันรุ่งขึ้นได้นำสิ่งที่ได้รับฟังมาไปเล่าให้โจทก์ฟังย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ และมีตัวโจทก์นำสืบสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานดังกล่าว ทั้งรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งโจทก์ได้ไปพบจำเลยแล้วสอบถามเรื่องที่จำเลยกล่าวข้อความตามฟ้องด้วย ประกอบกับจำเลยก็เบิกความรับว่าประจักษ์พยานโจทก์จะย้ายบัญชีเงินฝากไปยังสาขาอื่นอันเป็นมูลเหตุให้ประจักษ์พยานโจทก์ไปพบจำเลยและได้แจ้งให้ประจักษ์พยานโจทก์ทราบว่า สำนักงานใหญ่มีคำสั่งให้ย้ายโจทก์เพื่อความเหมาะสมเพราะโจทก์กับสามีโจทก์มีปัญหากับทางสำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นข้อความที่มีส่วนคล้ายกับข้อความตามที่โจทก์ฟ้องอันเป็นการเจือสมพยานโจทก์ ทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานมีน้ำหนักยิ่งขึ้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กล่าวข้อความตามฟ้องเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยได้กล่าวข้อความตามฟ้องจริงคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกล่าวข้อความตามฟ้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่า สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยกล่าวข้อความตามฟ้องต่อนายอาณัติย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าว และเมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้องประกอบกันแล้ว วิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนไม่ดี ทะเลาะกับสามีมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่โจทก์ฟ้อง หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกันหรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชาหรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างถึงในคำแก้ฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ และฎีกาของโจทก์ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 และ 220 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่อย่างไรก็ดี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น เห็นว่าหนักเกินไป”
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้ปรับจำเลย 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share