คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อ้างว่าจำเลยอยู่โดยละเมิดและเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาซื้อขายทรัพย์สินพิพาทระหว่างจำเลยกับส.เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินและโจทก์คบคิดกับส.โอนทรัพย์สินพิพาทโดยฉ้อฉล ทั้งโจทก์มิได้เสียหายอย่างใดจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองจำเลยฎีกาว่าจำเลยกับ ส.ไม่มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินพิพาทแต่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน และที่ ส. โอนขายทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย ทั้งค่าเช่าในทรัพย์สินพิพาทไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท นั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ถือเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อบ้านเลขที่ 62/155 และ 62/156พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 26790, 26791 และ 23938 ตั้งอยู่หมู่ที่ 4ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานครจากนางสาวสายใจ สินธุพันธ์เดชา ซึ่งเดิมทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยและขายให้แก่นางสาวสายใจ ปรากฏว่าจำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากทรัพย์สินข้างต้น ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 62/155 และ 62/156 ดังกล่าว ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยกู้เงินจากนางสาวสายใจ สินธุพันธ์เดชา จำนวน 350,000 บาท ต่อมาถูกนางสาวสายใจบังคับให้ใช้หนี้โดยให้จำเลยทำนิติกรรมอำพรางนำบ้านและที่ดินของจำเลยตามฟ้องไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่นางสาวสายใจซึ่งขณะนั้นจำเลยจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) จำนวน 780,000 บาท นางสาวสายใจ ได้ชำระหนี้จำนองและนำเงินกู้มารวมเข้าด้วยกัน แต่ได้จดทะเบียนการซื้อขายไว้เพียง850,000 บาท โดยนางสาวสายใจสัญญาว่า หากจำเลยหาเงินจำนวน 1,200,000 บาท มาคืนให้แก่นางสาวสายใจได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่จำเลยทันที ต่อมาจำเลยติดต่อให้นางสาวสายใจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่จำเลย พร้อมกับจะชำระเงินคืนแก่นางสาวสายใจจำนวน 1,200,000 บาท แต่นางสาวสายใจแจ้งว่าได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นญาติของนางสาวสายใจไปแล้ว ซึ่งเป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อจำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย เพราะโจทก์ทุจริตคบคิดกับนางสาวสายใจเพื่อประสงค์จะฉ้อโกงทรัพย์สินของจำเลยซึ่งมีราคามากกว่าหนี้สินที่จำเลยติดค้างนางสาวสายใจ ทั้งจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 62/155 และ 62/156 หมู่ที่ 4 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรีกรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์สินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อ้างว่าจำเลยอยู่โดยละเมิดและเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาซื้อขายทรัพย์สินพิพาทระหว่างจำเลยกับนางสาวสายใจเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินและโจทก์คบคิดกับนางสาวสายใจโอนทรัพย์สินพิพาทโดยฉ้อฉลทั้งโจทก์มิได้เสียหายอย่างใด จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองการที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยกับนางสาวสายใจไม่มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินพิพาท แต่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน และที่นางสาวสายใจโอนขายทรัพย์สินให้แก่โจทก์เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย อีกทั้งค่าเช่าในทรัพย์สินพิพาทไม่เกินเดือนละ 4,000 บาทนั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ถือเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share