แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง กำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้ว คำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้าง แต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้างก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมายดังกล่าวให้แจ้งชัด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่15 และคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบและศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมายว่าด้วยอายุความ