คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปูมเรือเป็นเอกสารสำคัญของการเดินเรือประจำเรือ ทั้งเป็นที่ยอมรับข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปและซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ว่า เรือลำนั้นแล่นไปที่ใดผจญกับสิ่งใดบ้าง จึงฟังได้ว่ารอยบุบใต้ท้องเรือเกิดขึ้น จากอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงทำให้เรือผจญคลื่นลมแรงหาใช่เกิดจากการใช้งานตามปกติไม่ ทั้งเรือลำนี้เป็นเรือเดินระหว่างประเทศ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากสถาบันที่นานาชาติยอมรับ เมื่อกรมธรรม์ระบุเงื่อนไขพิเศษว่า ผู้รับประกันภัยยอมให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายจากสภาพอากาศรุนแรง ฉะนั้น การที่เรือเสียหายจนวิศวกรของสถาบันนิปปอนไคจิโคไค สั่งซ่อม หากไม่ซ่อมจะไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้งานได้ตามปกติ แสดงว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อผจญคลื่นลมรุนแรงหรืออากาศแปรปรวนทำให้ไม่สามารถใช้งานปกติดังที่จำเลยอ้าง ความเสียหายของโจทก์จึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เอาประกันภัยตัวเรือและเครื่องยนต์ชื่อ “ไฟฟ้าขนอม 1” ไว้กับจำเลย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2535ระหว่างที่เรือเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปจังหวัดชลบุรีโจทก์ตรวจพบว่าเรือมีรูรั่วบริเวณท้องเรือห้องเครื่องและเมื่อเข้าจอดทอดสมอที่จังหวัดสมุทรปราการ การตรวจเรือพบว่าแผ่นเหล็กตัวเรือช่วงบริเวณหัวเรือ และแผ่นเหล็กกระดูกงูตลอดจนตัวเฟรมและตัวประกอบยึดเฟรมต่าง ๆ บุบและคดงอความเสียหายดังกล่าวสถาบันตรวจและรับรองเรือเอ็น.เค.ระบุว่าเป็นการบุบเนื่องจากเรือได้ผจญคลื่นลมแรงอย่างแรงระหว่างการเดินทางจากโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชไปอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โจทก์ได้ทำการซ่อมเป็นเงิน630,780 บาท ความเสียหายที่เกิดแก่เรือดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกรมธรรม์และขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลคุ้มครองอยู่จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 51,250.87 บาทแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 682,030.87 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 630,780 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ความเสียหายของเรือตามฟ้องเกิดขึ้นจากการใช้งานเรือตามปกติและอายุการใช้งานเป็นเวลานานของเรือเท่านั้นมิได้เกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดจากภัยที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน 630,780 บาท สูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 530,780 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2535จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำนวนดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 51,250.87 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเรือไฟฟ้าขนอม 1 เอาประกันภัยไว้กับจำเลยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่22 สิงหาคม 2535 ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.6ประมาณกลางปี 2535 สถาบันนิปปอนไคจิโคไค ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมาตราฐานเรือเดินระหว่างประเทศตรวจสอบความเสียหายของเรือไฟฟ้าขนอม 1 บริเวณแผ่นเหล็กตัวเรือห่างจากหัวเรือประมาณ 15 เมตร และแผ่นเหล็กกระดูกงูจากเฟรมที่ 70ถึง 80.5 พร้อมทั้งเฟรมและตัวประกันยึดเฟรมเห็นว่าสภาพไม่ปลอดภัย จึงสั่งซ่อมโดยการเปลี่ยนแผ่นเหล็ก โจทก์ส่งเรือไปซ่อมที่บริษัทอู่พระราม 3 จำกัด จนเสร็จเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 630,780 บาท ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.5โดยโจทก์ชำระเงินไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7และสถาบันนิปปอนไคจิโคไครับรองให้ใช้งานได้ทั่วไป อนึ่งตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.6 ระบุข้อจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยว่า ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนแรก 100,000 บาทของข้อเรียกร้องทั้งหลายต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ความเสียหายของโจทก์ตามกรมธรรม์คงมีเพียง 530,780 บาท เท่านั้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ความเสียหายของโจทก์อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยจักต้องรับผิดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเรือไฟฟ้าขนอม 1 ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยนี้ได้เข้าอู่แห้งครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน มกราคม 2534ตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย ล.5 แสดงให้เห็นว่าในขณะนั้นได้มีการซ่อมแซมและทำการตรวจสอบแล้วจากสถาบันนิปปอนไคจิโคไค ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานเรือเดินระหว่างประเทศ ทั้งเป็นผู้รับรองให้เรือลำนี้ใช้งานได้โดยปลอดภัยตามปกติ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่านับแต่เดือนมกราคม 2534เป็นต้นมาเรือไฟฟ้าขนอม 1 ได้รับการตรวจสอบรับรองจากวิศวกรของสถาบันนิปปอนไคโจโคไคว่ามีสภาพที่สมบูรณ์ไม่มีส่วนใดของเรือชำรุดเสียหาย ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2535ซึ่งเรือลำนี้เข้าตรวจสอบเพื่อซ่อมที่อู่แห้งของบริษัทอู่พระราม 3 จำกัด นายสมศักดิ์ สุคนธมาน วิศวกรของสถาบันนิปปอนไคจิโคไค ทำบันทึกการสำรวจสั่งซ่อมพร้อมกับการตรวจประจำปีว่า “2. การซ่อมแผ่นเหล็กท้องเรือชำรุด 2.1 แผ่นเหล็กท้องเรือที่ถังน้ำมันห้องเครื่องหมายเลข 1 ซ้าย ขวา ได้บุบเข้าอย่างหนัก สาเหตุที่เกิดความเสียหายเนื่องจากการที่เรือเข้าไปผจญสภาพอากาศแปรปรวนขณะที่เดินทางจากภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนที่เสียหายได้ถูกตัดออกแล้วประกอบเข้าที่ใหม่ตามรายการฯ” ตามบันทึกการสำรวจเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งแผ่นเหล็กดังกล่าวเป็นที่ตั้งของกระดูกงูเรือ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของลำเรือและการที่ท้องเรือบุบยุบกับโครงสร้างภายในท้องเรือมีการยุบตัวนี้ปรากฏจากปูมเรือและตามโน้ตออฟโพรเทสต์ ซึ่งเรือโทปิยพันธุ์ สิงหอุบล กับตันเรือไฟฟ้าขนอม 1 ได้ทำบันทึกในขณะเดินเรือซึ่งตามโน้ตออฟโพรเทสต์ว่า ในวันที่ 27 ตุลาคม 2534 เวลา 10 นาฬิกา ออกเรือจากโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อเดินทางกลับมารอรับน้ำมันเตาที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในขณะที่เรือออกเดินทางจากโรงไฟฟ้าขนอมนั้นทะเลมีคลื่นปานกลางถึงค่อนข้างจัดทำให้ตัวเรือตั้งแต่บริเวณหัวเรือไปจนถึงบริเวณถังน้ำมันเตาหมายเลข 1 ฟันกับคลื่นอย่างรุนแรงตั้งแต่เวลา 17 นาฬิกาทั้งที่ทางเรือได้พยายามเปลี่ยนเข็มและความเร็วของเรือเพื่อหลบคลื่นลมแล้วก็ตามทางเรือจึงได้นำเรือแล่นใกล้ชายฝั่งเพื่อให้เรือได้รับอันตรายจากคลื่นลมให้น้อยลง แต่ไม่มีผลประกอบกับเวลา 18 นาฬิกา มีพายุดีเปรสชั่น ผ่านเข้าฝั่งที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือผ่านศูนย์กลางพายุพอดี ทำให้ไม่สามารถที่จะนำเรือหลบพายุและคลื่นลมได้จนกระทั่งเวลา 19 นาฬิกา พายุขึ้นฝั่ง แต่ทะเลยังคงมีคลื่นจัดมาก หัวเรือและตัวเรือยังคงฟันคลื่นอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเวลา 3 นาฬิกาคลื่นจึงได้เบาลง และสงบเมื่อวันที่28 ตุลาคม 2534 เวลา 5 นาฬิกา ซึ่งจากการที่ตัวเรือโดยเฉพาะตั้งแต่หัวเรือไปจนถึงถังน้ำมันเตาหมายเลข 1 นั้น ได้รับความกระทบกระเทือนจากคลื่นลมอย่างมากและเป็นเวลานานอาจจะทำให้หัวเรือบริเวณที่ฟันกับคลื่นได้รับความเสียหาย และในวันที่13 พฤศจิกายน 2534 ได้ทำการออกเรือเพื่อเดินทางกลับมารับน้ำมันเตาที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในขณะที่เรือได้ออกเดินทางจากโรงไฟฟ้าขนอมทะเลมีคลื่นปานกลางถึงคลื่นจัดทำให้หัวเรือสุดจนถึงถังน้ำมันหมายเลข 1 เริ่มฟันคลื่นตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา ทางเรือจึงได้ทำการเปลี่ยนเข็มและความเร็วเรือเพื่อให้เรือได้รับอันตรายจากคลื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากทะเลมีคลื่นจัดมากจึงไม่สามารถที่จะหลบคลื่นได้ ทำให้หัวเรือบริเวณดังกล่าวฟันกับคลื่นตลอดเวลาอย่างรุนแรงจนกระทั่งเวลา 14 นาฬิกา ทะเลจึงได้มีความรุนแรงน้อยลง ซึ่งจากการที่หัวเรือบริเวณดังกล่าวได้ฟันกับคลื่นอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะทำให้หัวเรือส่วนที่ฟันกับคลื่นได้รับความเสียหาย กับในวันที่ 25 มิถุนายน 2535 เวลา 11 นาฬิกา ได้ทำการออกเรือเพื่อเดินทางกลับมารอรับน้ำมันเตาที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในขณะที่เรือได้ออกเดินทางจากโรงไฟฟ้าขนอม ทะเลมีคลื่นปานกลางทำให้หัวเรือตั้งแต่หัวเรือสุดจนถึงถังน้ำมันเตาหมายเลข 1 เริ่มฟันคลื่นตั้งแต่เวลา 17 นาฬิกา ทางเรือจึงได้ทำการเปลี่ยนเข็มและความเร็วเรือ เพื่อให้เรือได้รับอันตรายจากคลื่นลมน้อยลง โดยทำการนำเรือแล่นใกล้ชายฝั่ง แต่ก็ไม่มีผลทะเลมีคลื่นลมจัดขึ้นเป็นลำดับทำให้หัวเรือบริเวณดังกล่าวฟันกับคลื่นอย่างรุนแรงตลอดเวลาตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา จนกระทั่งถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2535 เวลา 4 นาฬิกา ทะเลเริ่มมีความรุนแรงน้อย แต่หัวเรือยังคงฟันกับคลื่นอยู่แต่มีระยะเวลาห่างลงจนกระทั่งเวลา 8 นาฬิกา คลื่นจึงได้สงบลงซึ่งจากการที่หัวเรือบริเวณดังกล่าวได้ฟันกับคลื่นอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะทำให้หัวเรือบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 และปูมเรือ เอกสารหมาย จ.8เมื่อปูมเรือเป็นเอกสารสำคัญของการเดินเรือประจำเรือทั้งเป็นที่ยอมรับข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปและซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ว่า เรือลำนั้นแล่นไปที่ใด ผจญกับสิ่งใดบ้าง ดังนั้น จึงฟังได้ว่ารอยบุบใต้ท้องเรือเกิดขึ้นจากอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงเป็นเหตุทำให้เรือผจญคลื่นลมแรงหาใช่เกิดจากการใช้งานตามปกติไม่ ทั้งเรือไฟฟ้าขนอม 1 นี้เป็นเรือเดินระหว่างประเทศ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากสถาบันนานาชาติยอมรับ ซึ่งกรณีเรือไฟฟ้าขนอม 1 อยู่ในความดูแลของสถาบันนิปปอนไคจิโคไค ด้วย ทั้งตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.6 ก็ระบุว่าเรือต้องได้รับการรับรองจากสถาบันนี้ เมื่อกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.6 ระบุเงื่อนไขพิเศษว่าผู้รับประกันภัยยอมให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายจากสภาพอากาศรุนแรง การที่เรือเสียหายจนวิศวกรของสถาบันนิปปอนไคจิโคไค สั่งซ่อม หากไม่ซ่อมจะไม่ได้รับรองให้ใช้งาน แสดงว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นทันทีทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ กรณีจึงไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการใช้งานปกติดังที่จำเลยอ้าง ความเสียหายของโจทก์จึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ที่จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่า ความเสียหายของเรือโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นต่อตัวเรือในทันทีที่ได้ผจญคลื่นรุนแรงหรืออากาศแปรปรวนในครั้งนั้น ๆ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อเรือโจทก์ผจญกับสภาพอากาศแปรปรวนเป็นเหตุให้ท้องเรือบุบยุบดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าความเสียหายตัวลำเรือได้เกิดขึ้นทันทีแล้วในขณะนั้น ทั้งเมื่อวิศวกรของสถาบันนิปปอนไคจิโคไค ผู้ดูแลและรับรองการใช้งาน เมื่อพบความเสียหายของลำเรือจึงสั่งให้โจทก์ซ่อมทันที มิฉะนั้นจะไม่รับรองให้ใช้งาน กรณีย่อมถือได้ว่าความเสียหายของเรือเกิดขึ้นต่อตัวเรือในทันทีแล้วเมื่อผจญคลื่นลมรุนแรงหรืออากาศแปรปรวนในครั้งนั้น ๆ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share