คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดและระบุด้วยว่าจำเลยผู้กู้และผู้จำนองตกลงให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุง อัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม โดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ และถือว่าจำเลยได้ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้ว และตามสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินระบุว่าหากภายหลังวันทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้จำเลยยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 ต่อปีเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ที่ศาลจะลดลงได้ตามมาตรา 383 การที่โจทก์ปรับดอกเบี้ยตามข้อตกลงขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งในการเรียกเอาชำระหนี้ทั้งหมดจากจำเลยเท่านั้นไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนเป็นเบี้ยปรับไปไม่ จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1สมรสกับจำเลยที่ 3 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) และเมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490(2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน232,779.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 196,818.42 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับตามฟ้องโจทก์สามารถยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 จะชำระส่วนที่ขาด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน196,818.42 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ระหว่างที่โจทก์ปรับปรุงดอกเบี้ยในอัตราใหม่กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.14 และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.15 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และได้รับเงินกู้ดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราที่โจทก์ปรับปรุงใหม่ตามที่เห็นสมควรโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ กำหนดชำระดอกเบี้ยและต้นเงินเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,500 บาท กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 180 เดือน แต่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ทั้งหมดก่อนกำหนดได้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.4 โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอมในการทำสัญญาของจำเลยที่ 1ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1698 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่โจทก์กำหนดตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 สัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.9 และสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.10 ภายหลังจากวันทำสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ 7,500 บาท แล้วผิดนัดชำระหนี้จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือนั้นแล้วแต่เพิกเฉย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดดอกเบี้ยโจทก์จากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงเหลือร้อยละ 18 ต่อปี หรือไม่ซึ่งข้อนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 และหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 1 ได้ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดและตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุด้วยว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบ และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้ว และตามสัญญาต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 ระบุว่าหากภายหลังวันทำสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 ต่อปี เป็นร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.14 และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.15 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ที่ศาลจะลดลงได้ตามมาตรา 383 การที่โจทก์ถือโอกาสปรับดอกเบี้ยดังกล่าวตอนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็เป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งในการเรียกเอาชำระหนี้ทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1อันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับ โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งได้ทำการจดทะเบียนสมรสในวันที่ 9 มีนาคม 2524 และต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินที่จำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.10อันเป็นการได้ที่ดินที่จำนองมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 สมรสกับจำเลยที่ 3 ดังนั้นที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) และในเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยานำที่ดินอันเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอม หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาสามีเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490(2) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน196,818.42 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอแก่การชำระหนี้โจทก์ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share