แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การบรรยายฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จะต้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น หมายความว่า เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่โจทก์ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องให้แจ้งชัด โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องถึงสาเหตุที่โจทก์ต้องฟ้องหย่าว่า เป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์อุปการะเลี้ยงดู ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา กล่าวคือ จำเลยทั้งสองเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน พักร่วมอยู่ในบ้านเดียวกัน ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กันเสมอเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่าเป็นไปตามฟ้อง แม้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 1 ขับรถให้ คือขอให้พาจำเลยที่ 2 ไปร้านตัดเสื้อ ร้านแว่นตา ร้านทำผม เขียนบทกลอนส่งหากัน แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลล่างทั้งสองจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด กฎหมายมาด้วย แต่ก็ไม่ผูกพันว่าศาลจะต้องวงเล็บใดก็เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างบทปรับบทตามฟ้องของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลปรับบทกฎหมายแตกต่างจากฟ้อง ไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 7,050,000 บาท หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ 2,700,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทน เป็นเงิน 5,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันให้แบ่งสินสมรสคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 14819 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 4/3 ถนนกาญจนวนิช ซอย 65 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 2468 นราธิวาส (ที่ถูก บ – 2468 นราธิวาส) และรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน กก 1353 ตราด (ที่ถูก กก 1358 ตราด) (เดิมหมายเลขทะเบียน กข 2112 ตราด) ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจทำได้ให้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับราชการครู จำเลยที่ 1 รับราชการที่กรมศุลกากร โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2519 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์และจำเลยที่ 1 มีบ้านพักอาศัยหลายแห่ง คือ ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดตราด แต่หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วในปี 2547 โจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยที่บ้านเลขที่ 46 – 48 ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาสันติสุข จังหวัดตราด และเป็นนายหน้าขายประกัน ประมาณกลางปี 2552 จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และขายประกันสัญญาประกันชีวิตแก่จำเลยที่ 1 หลังจากรู้จักกันแล้ว จำเลยที่ 1 พูดคุยโทรศัพท์กับจำเลยที่ 2 อยู่เสมอเป็นเวลานานวันละหลายครั้ง นัดพบกัน ยินยอมให้จำเลยที่ 2 พักอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน เขียนข้อความเป็นกลอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ส่งหากัน ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นโดยคณะทัวร์เดียวกัน พาจำเลยที่ 2 ไปร้านตัดเสื้อ ร้านแว่นตา และร้านทำผม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวว่ายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา อันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แต่ถือได้ว่าเป็นการกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควรที่จะอยู่รวมกันฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 แล้ว อันเป็นเหตุหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า แม้ฟ้องโจทก์จะระบุว่าเหตุหย่าตามฟ้อง เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แต่หากศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) ศาลชั้นต้นมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง และข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุตินั้น ถือเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ทั้งตาม (1) และ (6)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีเพียงประเด็นเดียวว่า การวินิจฉัยเหตุหย่าของศาลล่างทั้งสอง เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การบรรยายฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง นั้น โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น หมายความว่า เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่โจทก์ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องให้แจ้งชัด คดีนี้ โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องถึงสาเหตุที่โจทก์ต้องฟ้องหย่าว่า เป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์อุปการะเลี้ยงดู ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา กล่าวคือ จำเลยทั้งสองเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน พักร่วมอยู่ในบ้านเดียวกัน จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปซื้อของตลาด ร้านแว่นตา ร้านทำผม รับประทานอาหาร ขับรถให้ ถือของให้ ติดต่อกันทางโทรศัพท์ จำเลยที่ 2 เดินทางมาหาจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดตราด เพื่อพักอาศัยด้วยกัน บางครั้งจำเลยที่ 1 ก็เดินทางไปหาจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดสงขลา ทำเช่นนี้หลายครั้ง ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย แม้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลล่างทั้งสองจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด วงเล็บใด เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างบทกฎหมายมาด้วย แต่ก็ไม่ผูกพันว่าศาลจะต้องปรับบทตามฟ้องของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลปรับบทกฎหมายแตกต่างจากฟ้อง ไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ