มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562)

มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

       สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะ

       สำหรับการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้าย ดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดังนั้น การแปลและตีความสัญญาตัวแทนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได

       เมื่อสัญญามีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น

Share