คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดแต่งตั้งให้บริษัท ภ. เป็นผู้จัดการ บริษัทดังกล่าวแต่งตั้งให้ ล. เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการของโจทก์ ซึ่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลอาคารชุดนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น ล. จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ ล. ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้ผู้จัดการมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลและรักษาทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม ซึ่งการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายห้องชุดเลขที่ ๗/๓๘ ตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ ๗/๓๘ ระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ขอให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายห้องชุดเลขที่ ๗/๓๘ ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ โจทก์แต่งตั้งให้บริษัทภูเก็ต แอล แอนด์ พี เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้จัดการ และบริษัทภูเก็ต แอล แอนด์ พี เซอร์วิส จำกัด แต่งตั้งให้นางสาวเลียน่า เป็นผู้ดำเนินการแทนในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเลขที่ ๗/๓๘ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยมีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจดทะเบียนให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาท ทั้งที่จำเลยที่ ๒ ผู้โอนไม่มีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากโจทก์มาแสดงตามที่พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๙ กำหนดไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนโอน และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ในฐานะผู้โอนและผู้รับโอนย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์โดยนางสาวเลียน่า อลิซาเบท ดอยเล่ย์ ในฐานะผู้จัดการของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ กลับไปวินิจฉัยว่า ที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของห้องชุดประจำปี ๒๕๕๖ มิได้มีมติให้นางสาวเลียน่า อลิซาเบท ดอยเล่ย์ ในฐานะผู้จัดการและในฐานะผู้แทนของโจทก์ฟ้องคดีนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมมีมติให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดได้แต่งตั้งให้บริษัทภูเก็ต แอล แอนด์ พี เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้จัดการ บริษัทดังกล่าวแต่งตั้งให้นางสาวเลียน่า เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการของโจทก์ ซึ่งตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลอาคารชุดนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น นางสาวเลียน่า จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ นางสาวเลียน่า ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้นางสาวเลียน่า ในฐานะผู้จัดการมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลและรักษาทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม ซึ่งการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์
อย่างไรก็ตาม แม้นางสาวเลียน่า ในฐานะผู้จัดการจะมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ว่า การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสามว่า ขณะที่จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๒ มิได้ค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางแต่อย่างใด และจำเลยที่ ๒ ได้ร้องขอให้นางสาวเลียน่า ผู้จัดการของโจทก์ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดตามที่พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๙ กำหนดไว้แล้ว แต่นางสาวเลียน่า บ่ายเบี่ยงไม่ยอมออกให้ ซึ่งในข้อนี้พยานโจทก์ปากนายไมเคิล ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์และปากนางสาวเลียน่า ซึ่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ก็เบิกความรับว่าจำเลยที่ ๒ คงค้างเฉพาะหนี้เงินสมทบเข้ากองทุน WBDRLF เท่านั้น ซึ่งในประเด็นเรื่องเงินสมทบเข้ากองทุน WBDRLF นั้น ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวว่า เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ เพื่อนำเงินมาใช้สำหรับการซ่อมแซมอาคารและทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดวอเตอร์ไซด์ โดยกำหนดให้เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องจ่ายเงินสมทบห้องละ ๒๖๐,๐๐๐ บาท แบ่งจ่ายเป็นรายปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ถึงปี ๒๕๕๖ เงินที่จ่ายไปดังกล่าวถือเป็นเงินที่โจทก์กู้ยืมและให้ถือว่า เจ้าของห้องชุดเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวแสดงว่า เงินสมทบกองทุน WBDRLF มิใช่เงินที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าของห้องชุดพิพาทต้องจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าส่วนกลางตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๘ ที่หากไม่ชำระแล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๙ วรรคสอง เช่นนี้แล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จำเลยที่ ๒ จะไม่ไปขอให้โจทก์ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดให้ ทั้งโจทก์เองก็นำสืบในทำนองยอมรับว่านางสาวณัชชา กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๒ เคยติดต่อขอให้นางพิณแก้ว ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำบัญชีให้กับโจทก์ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุด ให้แก่จำเลยที่ ๒ แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ได้พยายามขวนขวายที่จะให้โจทก์ออกเอกสารดังกล่าวให้แล้ว ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่เคยไปขอหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงซึ่งได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสามโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ก่อนจำเลยที่ ๒ จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ ได้จ่ายเงินสมทบงวดแรกให้โจทก์ไปจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วจำเลยที่ ๓ ได้จ่ายให้โจทก์อีก ๑๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการจ่ายตามงวดที่กำหนดไว้ กรณึจึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายในเรื่องเงินสมทบ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่โจทก์ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดให้แก่จำเลยที่ ๒ แต่กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ย่อมถือได้ว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประเด็นอื่น ๆ อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share