คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, (1) (4), 14 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 36 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 รวม 36 กระทง เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2555 นางสาวศิริพร กับพวก ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษจังหวัดลพบุรี สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด ตามฟ้อง จากผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาว ซึ่งผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาวตกลงขายให้ ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโดยลำเลียงข้ามแม่น้ำโขงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในฝั่งประเทศไทยแล้ว แต่ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพวกนางสาวศิริพรขณะที่ขนเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องผ่านมาที่จังหวัดนครราชสีมา และสามารถจับกุมนางสาวศิริพรได้ในเวลาต่อมาที่จังหวัดลพบุรีในวันเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายประกอบ คนสัญชาติลาวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเทสโก้โลตัส มุกดาหาร บัญชีเลขที่ 663-0-11xxx-x ต่อมาก่อนที่นางสาวศิริพรกับพวกจะทำการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ในช่วงเกิดเหตุแรกระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2555 เฉพาะที่เกี่ยวกับคดีนี้ มีการรับโอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 26 ครั้ง เป็นเงิน 1,859,910 บาท โดยเงินที่รับโอนมาเป็นเงินที่นางสาวศิริพรโอนจากบัญชีเงินฝากนางสาวศิริพร บัญชีเลขที่ 114-0-05xxx-x รวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 120,000 บาท เป็นเงินที่นางสาวศิริพรโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโคกสำโรง รวม 5 ครั้ง เป็นเงิน 670,000 บาท เป็นเงินที่นางสาวศิริพรโอนจากบัญชีเงินฝากนางสาวสุมนทา บัญชีเลขที่ 114-0-24 xxx-x รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 90,000 บาท เป็นเงินที่นางสาวสุมนทาโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโคกสำโรง และสาขาลพบุรี รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 180,000 บาท เป็นเงินที่นางสาวพรรษา โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอำนาจเจริญ รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 630,000 บาท และเป็นเงินที่นางสาวจิรดา โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ที่ธนาคารรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 169,910 บาท เข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ และหลังจากที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องกันแล้ว ในช่วงเกิดเหตุที่สองระหว่างวันที่ 22 มิถุนายนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 มีการรับโอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 56 ครั้ง เป็นเงิน 3,380,284 บาท และในขณะเดียวกันกับช่วงที่มีการโอนเงินในช่วงเกิดเหตุช่วงที่สามระหว่างวันที่ 27 มีนาคมถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จำเลยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาถอนเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเทสโก้โลตัส มุกดาหาร ออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบ ต่อมาจำเลยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาว่านางสาวศิริพรกับพวกมีความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด และมีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนางสาวศิริพรกับพวกในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด และมีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน โดยร่วมกระทำความผิดกับพวกตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยมีความผิดฐานฟอกเงิน โดยร่วมกระทำความผิดกับพวกตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิด โดยในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนางสาวศิริพรกับพวก จำเลยกระทำความผิดด้วยการร่วมกับพวกเปิดบัญชีเงินฝากนายประกอบ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเทสโก้โลตัส มุกดาหาร เพื่อรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากนางสาวศิริพรกับพวกผู้ค้ายาเสพติดให้โทษและผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายอื่นเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ และจำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบ ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบ เพื่อนำไปให้ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องแก่นางศิริพรกับพวก ส่วนในความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยกระทำความผิดด้วยการร่วมกับพวกรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจากนางสาวศิริพรกับพวกผู้ค้ายาเสพติดให้โทษเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ และจำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบ อันเป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ก่อนอื่นต้องวินิจฉัยถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยและนายประกอบกับนางสาวศิริพรก่อนว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์มีพยาน โดยนางสาวศิริพรให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยและนายประกอบเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษกับนางสาวศิริพร โดยนางสาวศิริพรกับพวกจะโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ แม้จะเป็นพยานซัดทอดที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านได้ แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเท่านั้น เมื่อโจทก์มีพยานเอกสารแสดงว่า ช่วงเกิดเหตุแรก นางสาวศิริพรผู้ค้ายาเสพติดให้โทษได้โอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ รวม 12 ครั้ง ซึ่งก็คงจะเป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีนอย่างที่นางสาวศิริพรให้การในชั้นสอบสวนนั้นเอง จากนั้นตามพยานเอกสารโจทก์ยังแสดงว่าในขณะเดียวกันกับในช่วงที่มีการโอนเงิน ช่วงเกิดเหตุที่สาม จำเลยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 9 ครั้ง ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาแล้ว หลังจากถอนเงินแล้วตามที่พันตำรวจเอก ธีระชัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีก แล้วมาถอนเงินตามธนาคารต่างๆ อีกหลายธนาคาร จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ในวันเดียวกันพร้อมด้วยของกลางคือ เงินสด 1,226,600 บาท ที่ถอนมาจากธนาคารและบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นอีก 23 เล่ม ซึ่งก็มีบัญชีเงินฝากนายประกอบรวมอยู่ด้วยกับบัตรเครดิตอีก 58 ใบ โดยซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะรถด้านหลังที่จำเลยนั่งโดยสารมา เมื่อพบของกลางเป็นจำนวนมากเกินกว่าปกติของบุคคลทั่วไปที่จะพึงมีแล้วยังเอาไปซุกซ่อนอยู่ที่ใต้เบาะรถด้านหลังอีก แสดงว่าต้องการปกปิดเพื่อมิให้บุคคลอื่นล่วงรู้ จึงเป็นพิรุธ อีกทั้งจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากดังกล่าวยังเป็นของบุคคลคนเดียวกันแต่ได้ซอยแบ่งย่อยออกเป็นหลายบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ และปรากฏว่ามีจำนวนเงินโอนเข้าและถอนออกจากบัญชีเป็นจำนวนมากถึง 1,000 ล้านบาท ในช่วง 7 เดือน ในลักษณะผิดสังเกตเช่นนี้ น่าเชื่อว่า เงินสด บัญชีเงินฝาก และบัตรเครดิต เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีนนั้นเอง เมื่อโจทก์มีพยานพฤติการณ์แวดล้อมที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกันและมีคุณค่าเชิงพิสูจน์มาสนับสนุนอยู่เช่นนี้ว่าจำเลยและนายประกอบมีส่วนเกี่ยวพันกับยาเสพติดให้โทษ จึงทำให้คำให้การของนางสาวศิริพรในชั้นสอบสวนมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นเรื่องจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อตามที่โจทก์นำสืบในการที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด ตามฟ้องกับผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาว ไม่ปรากฏว่าจำเลยและนายประกอบเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยนางสาวศิริพรเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ไม่เคยรู้จักจำเลยและนายประกอบ เมื่อมาพิจารณาประกอบกับที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยเพียงมารับจ้างนางติ๋มเปิดบัญชีเงินฝากพร้อมกับนายประกอบที่จำเลยชวนมาให้เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการโอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ แล้วจำเลยถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบเพื่อนำไปให้นางติ๋มเพียงต้องการค่าจ้างเท่านั้น แต่จำเลยพอทราบว่าเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเงินฝากเป็นเงินที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย เนื่องจากแต่ละครั้งมีการโอนเงินเข้ามาเป็นจำนวนมากในเวลาใกล้เคียงกัน จึงรับฟังได้ว่าที่จำเลยและนายประกอบเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษกับนางสาวศิริพรนั้น กรณีเป็นเรื่องจำเลยเพียงมารับจ้างนางติ๋มมาเปิดบัญชีเงินฝากพร้อมกับนายประกอบเพื่อรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากนางสาวศิริพรกับพวก ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ แล้วจำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบ ซึ่งจำเลยและนายประกอบรู้อยู่แล้วว่าเป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีน เพื่อนำไปให้นางติ๋มเท่านั้น โดยจำเลยและนายประกอบไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตอนที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องกับผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาวเลย ดังนั้น ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาวที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องก็คงจะเป็นนางติ๋มนั้นเอง เมื่อเป็นดังนี้และพิจารณาประกอบกับที่พันตำรวจเอก ธีระชัยพยานโจทก์เบิกความว่า นางสาวสุมนทา นางสาวพรรษาและนางสาวจิรดาเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษโดยเป็นพวกเดียวกันกับนางสาวศิริพร จึงรับฟังได้ว่าช่วงเกิดเหตุแรก ที่นางสาวสุมนทา นางสาวพรรษา และนางสาวจิรดาโอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบ 2 ครั้ง 9 ครั้ง และ 3 ครั้ง ตามลำดับ ก็เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเช่นกัน และมีผลให้รับฟังได้ว่า ช่วงเกิดเหตุที่สองที่มีการโอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 56 ครั้ง ก็เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีนอีกด้วย จากเหตุดังกล่าวที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่ทราบว่าเป็นการกระทำความผิดและไม่ทราบว่าเป็นการโอนเงินค่าอะไร จึงรับฟังไม่ได้ และที่จำเลยเบิกความว่า เป็นเงินของชาวลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แล้วมาจ้างจำเลยให้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากส่งกลับไปให้บิดามารดาที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้จำเลยจะมีสมุดรับเงินมาแสดง ก็น่าเชื่อว่าจำเลยทำทั้งสองอย่างคือ รับจ้างถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนและรับจ้างถอนเงินทำงานชาวลาวด้วย ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยไม่เข้าใจและฟังไม่ถนัด โดยจำเลยไม่เคยให้การในชั้นสอบสวนว่าเป็นเงินธุรกิจผิดกฎหมายกับไม่มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน เมื่อในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ปรากฏชัดเจนว่ามีทนายความเข้ามาร่วมฟังด้วย จึงดูเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อตามที่พันตำรวจเอก ธีระชัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบเอกสาร ปรากฏว่าเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนจนได้ความจริงว่าจำเลยและนายประกอบเป็นเครือข่ายยาเสพติดให้โทษกับนางสาวศิริพร โดยนางสาวศิริพรกับพวกจะโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีนายประกอบนั้น ก็สืบเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางสาวศิริพรกับพวกที่ซื้อเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด ตามฟ้องจากนางติ๋มผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาว ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2555 ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่าจะมีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งอื่นอีกก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าในช่วงเกิดเหตุแรกที่นางสาวศิริพรกับพวกคือนางสาวสุมนทา นางสาวพรรษา และนางสาวจิรดา ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 26 ครั้ง เป็นเงิน 1,859,910 บาท ก็เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด ตามฟ้องนั้นเอง และเมื่อนางสาวศิริพรพยานโจทก์เบิกความว่า ในการชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีน ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษจะแจ้งให้นางสาวศิริพรโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ระบุไว้ ดังนั้น บัญชีเงินฝากนายประกอบก็คงเป็นบัญชีที่นางติ๋มผู้ขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางสาวศิริพรกับพวก แจ้งให้นางสาวศิริพรโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องเข้ามาในบัญชีเงินฝากนั้นเอง จึงถือว่าทันทีที่นางสาวศิริพรกับพวกโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบดังกล่าว ก็เป็นการที่นางสาวศิริพรกับพวกชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางติ๋มแล้ว ด้วยเหตุนี้ แม้การโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนของนางสาวศิริพรกับพวกในช่วงเกิดเหตุแรก จะเป็นเวลาก่อนที่นางสาวศิริพรกับพวกทำการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 8,000 เม็ด ตามฟ้อง และนางสาวศิริพรให้การในชั้นสอบสวนว่า การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องตกลงชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนหลังจากรับเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่าย ได้เงินแล้วจะชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนในภายหลัง ก็ไม่ใช่ข้อพิรุธว่าไม่ใช่เป็นเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย น่าเชื่อว่า นางสาวศิริพรให้การไปโดยสับสนหลงผิด โดยการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง นางสาวศิริพรกับพวกคงต้องโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบก่อนแล้วจะมีการคิดหักทอนบัญชีกันกับเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องที่นางติ๋มผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาวส่งมอบให้ในภายหลังเป็นคราวๆ ไป เมื่อเป็นดังนี้ ในช่วงเกิดเหตุที่สามที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบเพื่อนำไปให้นางติ๋มผู้ขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางสาวศิริพรกับพวก เงินค่าเมทแอมเฟตามีนส่วนหนึ่งก็คือเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่กล่าวมาแล้วว่าจำเลยและนายประกอบเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษกับนางสาวศิริพร ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของนางสาวศิริพรกับพวก เมื่อตามพยานเอกสารของโจทก์ นายประกอบเป็นผู้เปิดบัญชีเงินฝากไม่ใช่จำเลย และโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยันเลยว่า ในการเปิดบัญชีเงินฝากนายประกอบ จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นกับนายประกอบ ลำพังคำให้การจำเลยที่ว่าจำเลยชวนนายประกอบให้มาเปิดบัญชีเงินฝากด้วยกัน เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธก็จะนำมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากนายประกอบเพื่อรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจากนางสาวศิริพรกับพวกผู้ค้ายาเสพติดให้โทษ และในช่วงเกิดเหตุที่สามที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบเพื่อนำไปให้นางติ๋มผู้ขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางสาวศิริพรกับพวกเมื่อกรณีเป็นเรื่องภายในของนางติ๋มผู้ขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางสาวศิริพรกับพวก ที่ว่าจ้างให้จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบ เพื่อนำไปให้นางติ๋ม ไม่เกี่ยวข้องกับนางสาวศิริพรกับพวกแต่อย่างใด เนื่องจากทันทีที่นางสาวศิริพรกับพวกโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบแล้วก็เป็นการที่นางสาวศิริพรกับพวกชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องให้นางติ๋มแล้ว อีกทั้งในการที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องกับนางติ๋ม ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาว จำเลยและนายประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนางสาวศิริพรกับพวก ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ด้วยเหตุนี้ กรณียังไม่จำต้องวินิจฉัยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบในความผิดส่วนนี้ ส่วนในความผิดฐานฟอกเงิน เมื่อจำเลยไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่นายประกอบเปิดบัญชีเงินฝากนายประกอบเพื่อรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจากนางสาวศิริพรกับพวกผู้ค้ายาเสพติดให้โทษ และในการที่นางสาวศิริพรกับพวกซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องกับนางติ๋ม ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษชาวลาว จำเลยและนายประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ในช่วงเกิดเหตุแรกที่มีการรับโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องจากนางสาวศิริพรกับพวก ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษเข้ามาในบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 26 ครั้ง เป็นเงิน 1,859,910 บาท ก็ไม่เกี่ยวกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฟอกเงินด้วยเหตุนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกิดเหตุที่สามการที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบรวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบเพื่อนำไปให้นางติ๋ม ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้นางสาวศิริพรกับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินด้วยเหตุนี้ ส่วนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น เมื่อตามพยานเอกสารของโจทก์เป็นเรื่องนายสีคูณ สามีจำเลยคนสัญชาติลาวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากนายประกอบตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายประกอบ นายประกอบไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ถอนเงิน และโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยันว่าในการที่นายสีคูณถอนเงิน จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นกับนายสีคูณ ลำพังการเป็นสามีภรรยาจะไปถือว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นไม่ได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกถอนเงินตามฟ้อง ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฟอกเงินในส่วนนี้ เมื่อการกระทำความผิดฐานฟอกเงินของจำเลยตามที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน 9 ครั้ง เป็นความผิดหลายกรรม จึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดรวม 9 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในความผิดส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลเพียงบางส่วน โดยฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60 การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 9 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 9 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share