แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 21 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การทำสัญญาประกันอันเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันบัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 112 ส่วนการบังคับในกรณีมีการผิดสัญญาประกันบัญญัติไว้ในมาตรา 119 จึงถือได้ว่า การบังคับตามสัญญาประกันเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่ทำสัญญาประกันต่อศาลจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญโดยในคดีอาญานั้น ผู้ประกันซึ่งทำสัญญาประกันว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมามอบต่อศาลตามกำหนดหรือตามที่ศาลมีหมายเรียก ซึ่งหากผิดสัญญาก็มิใช่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในวงเงินตามสัญญาประกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางศาลด้วย และตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลก็ต้องถือว่ายังคงผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลอยู่ตราบนั้น แต่หากผู้ประกันขวนขวายได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาภายในอายุความทางอาญา ศาลในคดีนั้น ๆ ก็ยังอาจลดค่าปรับลงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะส่งมอบตัวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับนายประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันในคดีอาญาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกันมีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นที่กล่าวมา ผู้ร้องจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลที่สั่งปรับผู้ประกันได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ผู้ประกันได้ก็หาจำต้องร้องขอขยายระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ร้องหรือไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 146,000 บาท และส่งคำบังคับไปยังผู้ประกันแล้ว วันที่ 28 มิถุนายน 2544 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งให้พนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับบางส่วนแล้วผิดนัด วันที่ 23 มีนาคม 2549 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแทนหมายบังคับคดีฉบับเดิม
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไป 2 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
ผู้ประกันยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2559
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่27 ตุลาคม 2540 ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 146,000 บาท ศาลชั้นต้นออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับและหมายบังคับคดีแล้ว คดีครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นงดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของผู้ประกันข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้ประกันฎีกาว่า เหตุตามคำร้องขอผู้ร้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องเมื่อสิ้นระยะเวลาการบังคับคดี นั้น เห็นว่า การทำสัญญาประกันอันเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ส่วนการบังคับในกรณีมีการผิดสัญญาประกันบัญญัติไว้ในมาตรา 119 จึงถือได้ว่า การบังคับตามสัญญาประกันเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่ทำสัญญาประกันต่อศาลจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญ โดยในคดีอาญานั้น ผู้ประกันซึ่งทำสัญญาประกันว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมามอบต่อศาลตามกำหนดหรือตามที่ศาลมีหมายเรียก ซึ่งหากผิดสัญญาก็มิใช่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในวงเงินตามสัญญาประกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางศาลด้วย และตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลก็ต้องถือว่ายังคงผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลอยู่ตราบนั้น แต่หากผู้ประกันขวนขวายได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาภายในอายุความทางอาญา ศาลในคดีนั้น ๆ ก็ยังอาจลดค่าปรับลงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะส่งมอบตัวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับนายประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันในคดีอาญาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกันในคดีนี้มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นที่กล่าวมา ผู้ร้องในคดีนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลที่สั่งปรับผู้ประกันได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ผู้ประกันได้ก็หาจำต้องร้องขอขยายระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ร้องหรือไม่
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และยกฎีกาของผู้ประกัน กับให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียด้วย