คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างบางกรณีอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ทุจริตนำหนังสือพิมพ์สำหรับจัดส่งให้แก่สมาชิกของจำเลยไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ และโจทก์ไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนแล้วนำไปจำหน่าย เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อนที่จะเลิกจ้างจำเลยก็ไม่ได้สอบสวนโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม เป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นผู้เข้าร่วมในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้นก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม โดยมิได้ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับในการกำหนดค่าเสียหาย ดังกล่าว ศาลแรงงานกลางก็ได้ยกเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในเรื่องอายุ ของโจทก์ ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่โจทก์ จะได้รับประกอบการพิจารณาโดยละเอียดครบถ้วน จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 51

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม2532 ได้ค่าจ้างงวดสุดท้ายเดือนละ 6,700 บาท ในระหว่างทำงาน โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์โดยสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างจำเลยวันที่ 9 มกราคม 2541 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2540 โจทก์งดส่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ของจำเลยให้ลูกค้าอย่างกะทันหัน ทำให้จำเลยเสียหายและทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าจำเลยไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญในด้านบริการลูกค้า เป็นการสร้างภาพพจน์ไม่ดีให้แก่จำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ทำงานในตำแหน่งสายส่งมีหน้าที่ส่งหนังสือพิมพ์ให้เฉพาะสมาชิกผู้รับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ประจำโดยตรงต่อจำเลยจำเลยเคยอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิซื้อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จากจำเลยไปจำหน่ายแก่ลูกค้าของโจทก์หากำไรอันเป็นกิจการส่วนตัวของโจทก์ได้ด้วยโจทก์ก็ซื้อหนังสือพิมพ์จากจำเลยเรื่อยมาและได้ชำระราคาหนังสือพิมพ์ไม่มีหนี้สินติดค้าง ต่อมาจำเลยกลั่นแกล้งบีบบังคับมิให้โจทก์ซื้อหนังสือพิมพ์จากจำเลยอีกเนื่องจากโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยตั้งเงื่อนไขให้โจทก์นำเงินไปวางประกันกับจำเลยจำนวน 50,000 บาท มิฉะนั้นจำเลยจะไม่ยอมขายหนังสือพิมพ์ให้โจทก์อีก โจทก์ไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวไปวางประกัน จำเลยจึงไม่ยอมขายหนังสือพิมพ์ให้โจทก์ โจทก์ต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนจำหน่ายของจำเลยไปจำหน่ายเพื่อรักษาลูกค้าโจทก์ไว้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์งดส่งหนังสือพิมพ์กะทันหันนั้น ลูกค้ารายนี้เป็นลูกค้าของโจทก์มิใช่สมาชิกและลูกค้าของจำเลย ลูกค้ารายนี้ชำระเงินล่าช้า โจทก์หมดความสามารถจะประกอบกิจการส่วนตัวดังกล่าวต่อไปได้ จึงได้แจ้งบอกเลิกและงดส่งหนังสือพร้อมทั้งแนะนำให้ติดต่อซื้อจากจำเลยโดยตรง มิได้ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยอ้างว่าโจทก์ในฐานะพนักงานสายส่งไปหาสมาชิกเพิ่มโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบและอ้างว่าไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนเป็นการกระทำที่ไม่สมควรซึ่งไม่มีระเบียบว่าเมื่อโจทก์หาสมาชิกรับหนังสือพิมพ์อันเป็นกิจการส่วนตัวได้โจทก์จะต้องแจ้งจำเลย จำเลยก็ไม่เคยสนใจที่จะรับทราบข้อมูลแต่ประการใดการซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนจำหน่ายเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ จำเลยไม่มีสิทธิอ้างมาเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยังอ้างว่าจำเลยรับตัวอย่างหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่โจทก์ส่งให้ลูกค้าฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2540 เป็นหนังสือพิมพ์ที่จำเลยทำเครื่องหมายไว้สำหรับจัดส่งให้สมาชิกเท่านั้นไม่วางขายตามร้านหรือส่งให้ตัวแทน ซึ่งไม่เป็นความจริง หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวไม่ใช่ฉบับที่โจทก์นำไปจำหน่ายให้ลูกค้า โจทก์ไม่เคยนำหนังสือฉบับนั้นไปจำหน่ายให้ลูกค้าและไม่เคยนำหนังสือพิมพ์ที่จำเลยทำเครื่องหมายไว้สำหรับส่งให้สมาชิกไปจำหน่ายแต่อย่างใด ที่จำเลยว่าจำเลยได้สอบถามให้โอกาสโจทก์อธิบายเหตุผลก็ไม่ได้คำตอบที่สมเหตุสมผล หาว่าโจทก์มีส่วนทุจริตไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยนำหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวไปจำหน่ายให้ลูกค้าและไม่เคยนำหนังสือพิมพ์ที่จำเลยทำเครื่องหมายไว้สำหรับสมาชิกไปจำหน่าย จำเลยไม่เคยตั้งข้อกล่าวหาและไม่เคยสอบสวนโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก่อนการเลิกจ้างกลับเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด โดยไม่ได้สอบสวนและไม่มีหลักฐานตามที่จำเลยอ้าง การเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยกลั่นแกล้งเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคนหนึ่งได้เข้าร่วมสนับสนุนต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายบริหาร แทนที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันของจำเลยจะตระหนักถึงความประพฤติอันไม่เป็นธรรมและหาทางแก้ไขกลับแค้นเคืองอาฆาตและกลั่นแกล้งโจทก์และลูกจ้างอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม โดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามเดิมทุกประการ ให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องจำนวน 80,170 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้น ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างอัตราเดือนละ6,700 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม ให้จำเลยชำระหรือส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทโพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) นับจากวันที่ 31ธันวาคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 5,628 บาท และในอัตราเดือนละ469 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยสืบทราบว่ามีลูกจ้างแผนกสายส่งได้ร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยเป็นระยะเวลานาน วันที่ 23 ธันวาคม 2540 เวลา 5 นาฬิกา จำเลยจับได้ว่านายประสาธน์ เกิดกำลัง ได้ร่วมกับนายกนกเทพ จาติเกตุ พนักงานส่งหนังสือพิมพ์ของจำเลยร่วมกันลักหนังสือพิมพ์จำเลยจำนวน 15 ฉบับ มูลค่า225 บาท จำเลยได้เรียกพยานที่รู้เห็นมาสอบสวน ฟังได้ว่ามีการทุจริตโดยมีการลักลอบนำหนังสือพิมพ์ที่สำรองเพื่อนำไปส่งแก่สมาชิกหนังสือพิมพ์ของจำเลยไปขายหาประโยชน์ในระหว่างพนักงานสายส่ง ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างเป็นการผิดข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงได้เลิกจ้างนายประสาธน์และนายกนกเทพไปแล้วส่วนโจทก์นั้นจำเลยสืบทราบว่าได้ร่วมทุจริตกับกลุ่มของนายประสาธน์ด้วยวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำเลยทราบว่าโจทก์นำหนังสือพิมพ์ที่จำเลยได้พิมพ์เพื่อจัดส่งแก่สมาชิกประจำของจำเลยไปขายแก่ลูกค้าส่วนตัวของโจทก์ จำเลยทำการสอบสวนตามระเบียบแล้วปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการกระทำของโจทก์เป็นการลักทรัพย์หนังสือพิมพ์ของจำเลยไปขายหาผลประโยชน์ เป็นการผิดข้อบังคับการทำงานอย่างร้ายแรงและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงได้เลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 9 มกราคม 2541 โดยไม่จ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ต้องให้กรรมการสหภาพแรงงานเข้าร่วมสอบสวนด้วยนั้นได้หมดอายุแล้ว การสอบสวนลงโทษโจทก์จึงชอบแล้ว จำเลยไม่มีนโยบายจะกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างเนื่องจากต้องการกลั่นแกล้งเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ซึ่งตามมาตรา 124 โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้ดำเนินการตามมาตรา 124 ก่อน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นพนักงานสายส่ง มีหน้าที่ส่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ให้แก่สมาชิกของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,700 บาท และโจทก์เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ด้วย เมื่อวันที่ 9มกราคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตนำหนังสือพิมพ์ฉบับที่ส่งให้แก่สมาชิกของจำเลยไปขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ และการที่โจทก์ซื้อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จากตัวแทนจำหน่ายไปจำหน่ายเองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตลักทรัพย์ของจำเลยตามที่จำเลยกล่าวหา และการที่โจทก์ซื้อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปจำหน่ายเองก็ไม่ผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก่อนหรือไม่ เห็นว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นอาจเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121หรือมาตรา 123 และอาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ทุจริตนำหนังสือพิมพ์สำหรับจัดส่งให้แก่สมาชิกของจำเลยไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ และการที่โจทก์ไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนแล้วนำไปจำหน่ายเป็นการกระทำที่ไม่สมควรซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อนที่จะเลิกจ้างจำเลยก็ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาและสอบสวนโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยการเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ส่วนคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเป็นผู้เข้าร่วมกับสมาชิกคนอื่นในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้น ก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งมิได้มีเหตุผลอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด โจทก์มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123แต่อย่างใด ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้ชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ข้อ 4 ของจำเลยมีว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าแม้คำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการโดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ศาลแรงงานกลางมีความเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้หากให้โจทก์กลับไปทำงานกับจำเลยย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานอย่างแน่นอน ฉะนั้นศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 คำพิพากษาดังกล่าวไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ประกอบกับในการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าว ศาลแรงงานกลางก็ได้ยกเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในเรื่องอายุของโจทก์ ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่โจทก์จะได้รับประกอบการพิจารณาโดยละเอียดครบถ้วนคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้จึงชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 51 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share