คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125กำหนดให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องกล่าวหาตามมาตรา 124 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา เมื่อลูกจ้างยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542และจำเลยทั้งสิบสามได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ซึ่งไม่เกิน90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามจึงออกภายในกำหนดเวลา แม้จะส่งคำสั่งให้โจทก์ในวันที่ 28เมษายน 2542 ซึ่งเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาก็ไม่ถือว่าเป็นการออกคำสั่งเกินกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบสามเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542 ลูกจ้างของโจทก์รวม 8 คน ประกอบด้วยนายสุเทพ สินกล่ำ นางมยุรี วิไลพันธุ์ นางสาวนัดดา เตี้ยเพชรนายสัญชัย อ่อนพันธุ์ นางสาวอุษา ยังศรีจันทร์ นายเนียม ธรรมบูลย์นางสาวเสาวลักษณ์ แก้วดำ และนางสาวตรีนุช สุขเกษม ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ชอบและจำเลยทั้งสิบสามได้มีคำสั่งที่ 308-315/2542 ลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ให้โจทก์รับลูกจ้างทั้งแปดกลับเข้าทำงาน ในอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานภายใน 10 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งจำเลยทั้งสิบสามมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบเพราะมิได้รับฟังพยานหลักฐานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เหตุที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 เนื่องจากลูกจ้างทั้งสามปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติการทำงานเดิมและโจทก์ทราบในภายหลัง อีกทั้งลูกจ้างที่ 1ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เล่นการพนัน ลูกจ้างที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ลูกจ้างที่ 5 จงใจใช้มือทุบกระแทกเครื่องตอกบัตรจนไม่สามารถใช้งานได้ ลูกจ้างที่ 3 ดูแลสต๊อกสินค้าทำให้สินค้าขาดจำนวนมาก และลูกจ้างที่ 4 ขับรถยกของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อจนรถยกเสียหาย ลูกจ้างทั้งหมดอ้างพยานบุคคลแต่จำเลยทั้งสิบสามกลับรับฟังพยานว่าเป็นของฝ่ายโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยหลักการอ้างพยานโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งแปดเพราะลูกจ้างทั้งแปดกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการชอบแล้ว จำเลยทั้งสิบสามไม่ได้รับฟังพยานหลักฐานโดยชอบตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสาม

จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 308-315/2542 ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะขอเพิกถอนคำสั่งขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีลูกจ้างประมาณ 280 คน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2541นายสุเทพ สินกล่ำ กับพวกลูกจ้างของโจทก์รวม 13 คน ร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงานไทยแพค ต่อมาลูกจ้างโจทก์จำนวน 13 คนได้จัดทำข้อเรียกร้องจะยื่นต่อโจทก์เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 และลูกจ้างโจทก์ดังกล่าวที่ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครว่าโจทก์ไม่ให้เข้าทำงานตามปกติ ทราบว่าโจทก์เพียงพักงานไม่ได้เลิกจ้าง และโจทก์มีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างที่ร่วมกันตั้งสหภาพแรงงานจำนวน 8 คน และมีคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน 5 คนตามเอกสารหมาย จ.7 การเลิกจ้างลูกจ้างทั้งแปด เพราะโจทก์ถือว่าลูกจ้างดังกล่าวกระทำความผิดร้ายแรงจึงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ลูกจ้างทั้งแปดได้ร้องเรียนต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542 และได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 308-315/2541 เมื่อวันที่ 9เมษายน 2542 นำส่งโจทก์วันที่ 28 เมษายน 2542 ให้โจทก์รับลูกจ้างทั้งแปดกลับทำงานในอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงานภายใน 10 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งในประเด็นพิพาทที่ว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสิบสามเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กระทำการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายโดยชอบแล้วส่วนการที่จำเลยทั้งสิบสามรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโดยชอบหรือไม่นั้น ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว จำเลยทั้งสิบสามรับฟังข้อเท็จจริงจากการสอบปากคำของฝ่ายโจทก์และลูกจ้างปรากฏตามรายชื่อในรายงานการสอบสวนของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกับบันทึกการสอบสวนของอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้วเป็นบุคคลเดียวกันและยังได้สอบปากคำของนายพงศ์พิพัฒน์ โรจนยุกตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนนางสาวจินตนา บวบทอง รองหัวหน้าแผนกโกดัง และนายเพชรกองยศ พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เพื่อทราบข้อเท็จจริง การรับฟังพยานบุคคลและพยานเอกสารในชั้นเจ้าพนักงานเป็นการรับฟังจากพยานทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ได้ความจริงตามกระบวนการไต่สวนมิใช่กระบวนการกล่าวหาซึ่งจะต้องกำหนดตัวพยานหรือหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นของฝ่ายใดและดำเนินการชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐานแต่ละฝ่ายว่าฝ่ายไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบสามรับฟังพยานของลูกจ้างแล้วระบุว่าเป็นพยานของอีกฝ่ายจึงฟังไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสามวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่นนอกจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนจึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโดยชอบแล้วมีปัญหาว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามถูกต้องหรือไม่ จากคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นให้การต่ออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทั้งผู้รับมอบอำนาจและพนักงานอื่นล้วนแต่มิได้ปฏิเสธการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสหภาพแรงงานไทยแพค เชื่อได้ว่าลูกจ้างทั้งแปดที่โจทก์เลิกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานไทยแพค ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2541 จริง ต่อมาโจทก์ได้สั่งพักงานลูกจ้างที่ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานไทยแพคทั้งสิบสามคนและต่อมาได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งแปด จากพยานหลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลูกจ้างทั้งแปดกระทำความผิดต่าง ๆ กัน ล้วนเป็นพยานที่ปราศจากน้ำหนักขาดที่มาและที่ไปที่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความประสงค์ให้ลูกจ้างทั้งแปดไม่สามารถทำงานอยู่กับโจทก์ต่อไปได้ การที่โจทก์มีคำสั่งพักงานและเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและขอจัดตั้งสภาพแรงงานในคราวเดียวทั้งแปดคน ชี้ให้เห็นถึงเจตนาเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(2) เมื่อจำเลยทั้งสิบสามมีคำสั่งว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งแปดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามจึงชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 3ว่า ผู้กล่าวหาคือลูกจ้างนั้นแปดมีคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม2542 จำเลยทั้งสิบสามมีคำวินิจฉัยเป็นคำสั่งที่ 308-315/2542ลงวันที่ 9 เมษายน 2542 นำส่งโจทก์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542ดังนั้น คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวได้ออกคำสั่งแก่โจทก์ล่วงเลยกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ขอขยายระยะเวลา และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแต่อย่างใด จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับคำร้องกล่าวหาตามมาตรา 124 แล้ว ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดได้ตามที่เห็นสมควร” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหา คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างทั้งแปดได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม2542 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน2542 ซึ่งไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาของลูกจ้างทั้งแปด คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามจึงออกภายในกำหนดเวลาและชอบด้วยมาตรา 125 แห่งบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะส่งคำสั่งให้โจทก์ในวันที่ 28 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาก็ตาม ก็ไม่ถือว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ออกคำสั่งเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 125 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share