แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็ค โดย ศ. เป็นผู้เขียนข้อความในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนแทนเนื่องจากจำเลยอ้างว่าลายมือไม่สวยเมื่อ ศ. เขียนรายการในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนให้ต่อหน้าจำเลยถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมและ ภ. ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2539 จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาย่อยท่าอากาศยานกรุงเทพ ฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2539 วันที่ 10กรกฎาคม 2539 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาทรวม 3 ฉบับ ให้แก่นายศักดิ์ชัย รุ่งภูวภัทร จำนวน 2 ฉบับ ให้แก่นายภาคภูมิ ปิตยานนท์จำนวน 1 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยได้ยักยอกเอาเงินของบุคคลทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายไป อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนดผู้เสียหายทั้งสองต่างนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก และฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 และวันที่ 10 กรกฎาคม 2539และปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2539 การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1)(3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายศักดิ์ชัย รุ่งภูวภัทร ผู้เสียหายคนหนึ่งยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกจำเลยกระทงละ 2 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ครวม 3 ฉบับและได้มอบเช็คจำวน 2 ฉบับ ให้แก่นายศักดิ์ชัย รุ่งภูวภัทร ส่วนเช็คอีก 1 ฉบับ มอบให้แก่นายภาคภูมิ ปิตยานนท์ เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยได้ยักยอกเอาเงินของบุคคลทั้งสองไปขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เมื่อนายศักดิ์ชัย ผู้เสียหายคนหนึ่งยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตามเช็คเพียงสองฉบับ ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงเช็คอีก1 ฉบับ ซึ่งโจทก์ร่วมมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา คงมีโจทก์ร่วมฎีกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นข้อหาความผิดสำหรับเช็ค 1 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งโจทก์ร่วมมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจึงยุติคดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมและนางสาวศิริวรรณ ทองไกรแสน เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539นางสาวศิริวรรณกับโจทก์ร่วมและนายภาคภูมิ ปิตยานนท์ ผู้เสียหายตามเช็คฉบับที่ 3 ร่วมกันทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยโจทก์ร่วมได้นำเงิน 300,000 บาท นายภาคภูมินำเงิน 100,000 บาท มอบให้นางสาวศิริวรรณเพื่อเข้าร่วมลงทุนรับซื้อและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามใบรับเงินร่วมหุ้นเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้มารับเงินจากนางสาวศิริวรรณไปจำนวน 150,000 บาท เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศที่สนามบินดอนเมืองตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2539จำเลยให้คนมารับเงินจากนางสาวศิริวรรณเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเงินตราอีก 20,000 บาทและวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จำเลยให้นายไพโรจน์ จึงสกุล มารับเงินจากนางสาวศิริวรรณอีก 20,000 บาท ต่อมาต้นเดือนมิถุนายน 2539 นางสาวศิริวรรณ ให้พนักงานบริษัทนำเงินจำนวน 200,000 บาท ไปให้จำเลยที่สนามบินดอนเมืองตามที่จำเลยบอก แต่ภายหลังจำเลยไม่ได้นำเงิน 200,000 บาท ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยอ้างว่าที่สนามบินดอนเมืองขณะนั้นมีคนมาก ไม่สะดวกต่อการแลก นางสาวศิริวรรณจึงให้พนักงานของบริษัททวงเงินคืน แต่จำเลยไม่คืนให้โดยบอกว่า นายบุญเรือง ศรีสังข์ เจ้านายเก่าของนางสาวศิริวรรณจะขอยืมเงินดังกล่าวไปใช้ก่อน 3 วัน แล้วจะคืนให้ เมื่อครบ 3 วันแล้วจำเลยไม่นำเงินมาคืนให้ นางสาวศิริวรรณจึงโทรศัพท์ไปสอบถามได้ความจากนายบุญเรืองว่า ยืมเงินไปเพียง 90,000 บาท และนำเงินที่ยืมไป 90,000 บาท มาคืนนางสาวศิริวรรณ ส่วนเงินอีก 110,000 บาท จำเลยรับเอาไว้เอง จำเลยได้นำเงินที่โจทก์ร่วมและนายภาคภูมิฝากไว้เพื่อให้จำเลยนำไปแลกเงินตราต่างประเทศเพื่อหากำไรเป็นจำนวน 300,000 บาท ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2539 ได้มีการนัดหมายเจรจากันที่ห้องอาหารสามมุก ถนนวิภาวดีรังสิตจำเลยรับว่าได้นำเงินที่เอาไป 300,000 บาท ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจริง จำเลยรับว่าจะคืนเงินโดยชำระให้เป็นเช็ค 3 ฉบับ จำเลยบอกให้นางสาวศิริวรรณ เขียนข้อความรายการในเช็ค โดยบอกว่าลายมือจำเลยไม่สวยแล้วจำเลยลงชื่อสั่งจ่าย เช็คทั้ง3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท ตามเช็ค เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 แล้วมอบให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ คือเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 และมอบให้นางสาวศิริวรรณเพื่อนำไปให้นายภาคภูมิ 1 ฉบับ คือเช็คเอกสารหมาย จ.3 เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนดโจทก์ร่วมและนายภาคภูมิได้นำเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ร่วมและนายภาคภูมิติดต่อทวงถามให้จำเลยใช้เงินตามเช็คแล้ว จำเลยบ่ายเบี่ยงจึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า นางสาวศิริวรรณ กับจำเลยได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เอสแอนด์ที ฮอลิเดย์ ขึ้นโดยจำเลยดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ มีการแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างจำเลยกับนางสาวศิริวรรณทุกสัปดาห์ ในการนำเงินไปแลกที่ท่าอากาศยานนั้น จำเลยได้นำเช็คค้ำประกันเงินที่นำออกมาจากห้างเอสแอนด์ที ไว้ให้กับนางสาวศิริวรรณด้วยเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เป็นเช็คค้ำประกันดังกล่าว จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายอย่างเดียว ยังไม่ได้กรอกข้อความในเช็ค เงินที่พนักงานของนางสาวศิริวรรณนำมาให้จำเลยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพนั้น นายบุญเรืองได้ขอยืมไปจากจำเลยและนายบุญเรืองได้ส่งมอบคืนให้นางสาวศิริวรรณแล้ว เห็นว่า โจทก์ร่วมมีนางสาวศิริวรรณเบิกความประกอบใบรับเงินร่วมหุ้นเอกสารหมาย จ.1 ว่า โจทก์ร่วมและนายภาคภูมินำเงินให้นางสาวศิริวรรณรวม 400,000 บาท เพื่อเข้าร่วมลงทุนรับซื้อและแลกเงินตราต่างประเทศ จำเลยได้รับเงินจากนางสาวศิริวรรณรวมเป็นเงิน 300,000 บาท แล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ต่อมาได้มีการเจรจากันจำเลยยอมรับจะชดใช้คืนให้โดยสั่งจ่ายเช็ค3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ และนายภาคภูมิ 1 ฉบับซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าได้รับเงินจากนางสาวศิริวรรณตามบันทึกเอกสารหมาย จ.11 และรับว่าพนักงานของนางสาวศิริวรรณได้นำเงินมาให้จำเลยที่ท่าอากาศยานจริง แต่นายบุญเรืองได้ขอยืมเงินไปจากจำเลย ซึ่งเจือสมกับคำพยานโจทก์ร่วม ที่จำเลยอ้างว่าจำเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้นั้นก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะจำไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใดข้อที่จำเลยอ้างว่าให้นายบุญเรืองยืมไปทั้งหมด และนายบุญเรืองใช้ให้นางสาวศิริวรรณแล้ว จึงไม่มีน้ำหนัก พยานโจทก์ร่วมมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า จำเลยรับเงินจากนางสาวศิริวรรณเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 300,000 บาท ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเงินจำนวน 300,000 บาท เป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยแต่ขาดทุนนั้น ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ จึงฟังได้ว่าจำเลยนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จึงได้มีการเจรจากันและจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยลงชื่อในเช็คทั้ง 3 ฉบับ มอบให้นางสาวศิริวรรณเพื่อเป็นประกันในการรับเงินจากนางสาวศิริวรรณไปแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจำเลยลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแต่ไม่ได้กรอกข้อความในเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ให้นางสาวศิริวรรณที่ร้านอาหารสามมุกนั้นก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คโดยมิได้เขียนข้อความมอบให้คนอื่นไว้ เพราะผู้รับเช็คอาจจะไปเขียนข้อความระบุจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ ทั้งหากยังไม่ได้เขียนข้อความจำนวนเงินในเช็คมอบให้เป็นประกันแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะลงชื่อมอบเช็คให้ถึง 3 ฉบับ เพราะมอบให้ฉบับเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้ว ทั้งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึงจ.4 ที่ร้านอาหารสามมุกเมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยได้รับเงินจากนางสาวศิริวรรณหลายวันแล้ว หากเป็นการออกเช็คค้ำประกันการรับเงินก็ควรจะออกเช็คมอบให้แต่ละครั้งที่รับเงินไป นอกจากนี้เมื่อจำเลยทราบว่ามีการนำเช็คฉบับแรกไปเรียกเก็บเงินจำเลยก็มิได้แจ้งอายัดเช็คอีก 2 ฉบับ ต่อธนาคาร ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่สมเหตุผลไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งจำเลยก็เบิกความว่าในวันที่จำเลยลงชื่อในเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 มอบให้นางสาวศิริวรรณที่ร้านอาหารสามมุกนั้นโจทก์ร่วมก็อยู่ด้วย ซึ่งเจือสมกับพยานโจทก์ร่วมว่า ในวันดังกล่าวจำเลยรับว่านำเงินที่ได้รับจากนางสาวศิริวรรณไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และจำเลยจะชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมและนายภาคภูมิจึงลงชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 โดยนางสาวศิริวรรณเป็นผู้เขียนข้อความในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนแทนเนื่องจากจำเลยอ้างว่าลายมือไม่สวน เมื่อนางสาวศิริวรรณเขียนรายการในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนให้ต่อหน้าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เพื่อชำระเงินที่โจทก์ร่วมและนายภาคภูมิมาลงทุนกับนางสาวศิริวรรณแล้วจำเลยยักยอกไปมอบให้โจทก์ร่วมและนายภาคภูมิ จึงถือว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.4 เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่เมื่อเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 ยุติไปแล้วดังที่วินิจฉัยข้างต้น ศาลฎีกาไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 สำหรับ เช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2กระทง จำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์