คำวินิจฉัยที่ 99/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเพื่อสร้างฝายกั้นน้ำและนำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นตามแนวเขตแต่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า เป็นเหตุให้ที่ดินไม่มีทางเข้าออกและไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไปขอออกโฉนดพบว่ามีเนื้อที่ดินขาดหายไป ขอให้รื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ไม่ได้ล้อมรั้วรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า การขอออกโฉนดของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขตและผู้ฟ้องคดีทั้งห้าก็ไม่ได้คัดค้าน เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้านั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิครอบครองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๙/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นายพล ศรีวงค์วรรณ ที่ ๑ นางนวล ศรีวงค์วรรณ ที่ ๒ นายสุภาพ ศรีวงค์วรรณ ที่ ๓ นางบานเย็น ชุมแสง ที่ ๔ นางเกสรา พรหมมานนท์ ที่ ๕ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมชลประทาน ที่ ๑ กรมชลประทาน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๔/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๓๙๘ เลขที่ ๗ เลขที่ ๓๓๖ เลขที่ ๗๙ และ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๔๑๐ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ดินรวมทั้งสิ้น ๔ ไร่ ๒๗ ตารางวา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำโครงการฝายกั้นน้ำหนองสลีก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยมีการเวนคืนที่ดินของประชาชนรวมทั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีแปลงเลขที่ ๓๓๖ จำนวน ๓ งาน ๕๖ ตารางวา และแปลงเลขที่ ๗๙ จำนวน ๑ งาน ๑๔ ตารางวา รวมที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน ๑ ไร่ ๗๐ ตารางวา ภายหลังที่ได้มีการเวนคืนที่ดินเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้นำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินที่เวนคืนรวมทั้งส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตที่เวนคืน ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงกลายเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าออกทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างปกติสุข และไม่สามารถเข้าไปในที่ดินเพื่อดูแลต้นลำไยได้อย่างเต็มที่เป็นเหตุให้ต้นลำไยไม่สามารถออกผลผลิตได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ติดต่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนรั้วลวดหนามและจ่ายค่าชดเชยจากการขาดรายได้ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำที่ดินไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๙๓๑๙ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ พบว่ามีเนื้อที่เพียง ๑ ไร่ ๑๗ ตารางวา ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา โดยผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ได้ยินยอมหรือมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รื้อถอนรั้วลวดหนามหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกจากที่ดินแปลงพิพาทและทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากลับคืนสู่สภาพเดิม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า กรมชลประทานได้จัดซื้อที่ดินจากผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเพื่อใช้ทำฝายหนองสลีก มิใช่เป็นการเวนคืนและทำการล้อมรั้วลวดหนามเพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการมิให้สูญหายหรือเสียหายไม่ได้ล้อมรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๙๓๑๙ ภายหลังการซื้อขายที่ดินกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยการนำชี้และรับรองแนวเขตจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้ฟ้องคดีทั้งห้าโดยมิได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด การรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสามารถใช้ทางด้านเหมืองสาธารณประโยชน์และทางด้านติดกับฝายหนองสลีกเป็นทางเข้าออก อีกทั้งได้เปิดรั้วลวดหนามมีความกว้าง ๑.๘๐ เมตร เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากับพวกผ่านเข้าออกไปยังถนนและที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินโครงการก่อสร้างฝายหนองสลีกเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยจัดซื้อที่ดินบางส่วนของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและทำการล้อมรั้วลวดหนาม การดำเนินโครงการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินบริเวณที่ล้อมรั้วที่พิพาท นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยข้อหนึ่งของประเด็นพิพาทหลักที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่า การดำเนินการก่อสร้างฝายหนองสลีกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือไม่ แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจะโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้า แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทว่าที่ดินเป็นของคู่กรณีฝ่ายใด ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน แม้การฟ้องคดีนี้จะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในที่ดิน แต่ศาลจำต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของคู่กรณีฝ่ายใดเสียก่อน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการเวนคืนที่ดินของประชาชน รวมทั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเพื่อสร้างฝายกั้นน้ำหนองสลีก เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้นำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินและรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นเหตุให้ที่ดินไม่มีทางเข้าออกและไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อย่างปกติสุข เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำที่ดินไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๙๓๑๙ พบว่ามีเนื้อที่ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๔๐ ตารางวา ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรื้อถอนรั้วลวดหนามหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกจากที่ดินแปลงพิพาทและชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ไปชี้ระวังแนวเขตที่ดินในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียง การรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสามารถใช้ถนนทางด้านติดกับฝายหนองสลีกเป็นทางเข้าออก อีกทั้งได้เปิดรั้วลวดหนามเพื่อให้ผ่านเข้าออกไปยังถนนได้ เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นตามแนวเขตที่ดินรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า การรังวัดออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้วลวดหนามและชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้านั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือเป็นที่ดินซึ่งถูกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเวนคืนไปแล้ว กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพล ศรีวงค์วรรณ ที่ ๑ นางนวล ศรีวงค์วรรณ ที่ ๒ นายสุภาพ ศรีวงค์วรรณ ที่ ๓ นางบานเย็น ชุมแสง ที่ ๔ นางเกสรา พรหมมานนท์ ที่ ๕ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมชลประทาน ที่ ๑ กรมชลประทาน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share