คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน เพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันทำละเมิดแล้ว
เมื่อเหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถทั้งสองฝ่าย และพฤติการณ์แห่งละเมิดมีความร้ายแรงพอๆ กันความเสียหายย่อมเป็นพับกันไป
ผู้ตายเนื่องจากการทำละเมิดเป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ โดยภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยจะยกเอาข้อที่ภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายมายกเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพผู้ตายก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องได้
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะบิดามารดาตามกฎหมายการที่บุตรโจทก์ตาย ถือได้ว่าโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว มิต้องคำนึงว่าโจทก์ผู้เป็นบิดามารดาจะเป็นผู้มีทรัพย์สินมากน้อยเพียงใดยังสามารถเลี้ยงตนเองได้หรือไม่ โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่ต้องขาดไร้อุปการะนั้น และค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้นี้เป็นหนี้ซึ่งเกิดจากมูลละเมิดอันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อศาลฎีกากำหนดให้ลดน้อยลงมาอีก ย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาขึ้นมาได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า นายชีพลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกหมายเลข น.ว.05711 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ไปตามถนนเพชรเกษมโฉมหน้าจากทิศใต้ไปทิศเหนือ จำเลยที่ 2 ได้ขับรถบรรทุกหมายเลข พ.บ.00635จากทิศเหนือไปทิศใต้ ครั้นรถยนต์ทั้งสองคันจะสวนทางกัน นายชีพและจำเลยที่ 2ต่างขับรถด้วยความประมาท โดยขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กินทางซึ่งกันและกันและต่างขับรถชิดแนวเส้นแบ่งเขตถนนเพชรเกษม เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน รถจำเลยที่ 1 เสียหลักวิ่งแฉลบไปชนรถจักรยานคันที่นายยวงขับขี่มาชิดขอบถนน นายยวงตกจากรถจักรยานได้รับบาดเจ็บถึงแก่ความตาย ในวันนั้นนายยวงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองโจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ทั้งสองจะเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยวงหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง การที่นายยวงถึงแก่ความตายเป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่จริงตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลข น.ว.05711 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกหมายเลข พ.บ.00635ซึ่งเป็นรถของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยความประมาทขับด้วยความเร็วและแซงรถคันอื่นเข้าไปชนรถโจทก์ที่แล่นสวนทางมา จนรถโจทก์แฉลบตกลงไปในคูได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 136,714 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถไปจากจำเลยที่ 2 ไปขับรถหาประโยชน์ของตนเองเหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทของนายชีพลูกจ้างของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดร่วมด้วย ค่าเสียหายโจทก์เรียกร้องเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2เรียกนางสุรางค์จำเลยที่ 1 สำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1เรียกนายเนี้ยวหรือเกรียวจำเลยที่ 2 สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และให้เรียกนายวีระจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 60,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 59,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองมรณะ ศาลฎีกาอนุญาตให้นางเยื้องและเด็กชายวันเพ็ญโดยนางทองคำมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าเป็นคู่ความแทนที่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายชีพเป็นลูกจ้างได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องร่วมรับผิดกับนายชีพในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ด้วย จำเลยที่ 1จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับนายชีพ และได้ความว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของผู้ตาย เหตุที่ตายลงนั้นโจทก์ฟ้องว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและต้องขาดไร้อุปการะ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 เหตุนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอก เมื่อกรณีของคดีเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดดังความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด” ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดนับแต่วันเวลาที่ทำละเมิด การฟ้องจำเลยที่ 1 นายจ้างให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการที่รถทั้งสองคันเกิดชนกันขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของทั้งสองฝ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของรถจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของรถจำเลยที่ 1 ด้วย เช่นนี้การพิจารณาถึงความเสียหายของทั้งสองฝ่าย จำต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442ประกอบด้วยมาตรา 223 ศาลฎีกาพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งละเมิดของทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า มีความร้ายแรงพอ ๆ กัน ความเสียหายจึงย่อมเป็นพับกันไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อีกหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เสียแล้ว

ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ค่าหีบศพ 300 บาท เงินทำบุญพระ 500 บาทและเงินทำบุญครบ 7 วัน 1,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนี้นางทองคำภรรยายผู้ตายเป็นผู้ออก โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ออก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องนั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพของผู้ตาย เมื่อโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปลงศพบุตรโจทก์ซึ่งถูกลูกจ้างจำเลยที่ 1 กระทำให้ถึงแก่ความตาย แม้นางทองคำภรรยาผู้ตายจะได้เป็นผู้ออกเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนี้ก็ตาม จำเลยที่ 1ก็จะยกมาเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าค่าฌาปนกิจศพผู้ตาย 8,000 บาท สูงเกินไปควรไม่เกิน 2,000 บาท และโจทก์ยังไม่ได้จ่ายเงินไปจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเกินไปกว่า 2,000 บาทนั้น เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าฌาปนกิจศพผู้ตายตามประเพณี แม้ยังไม่ได้จ่ายเงินไปจริงได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าฌาปนกิจศพให้โจทก์ 8,000บาท พอสมควรแก่ฐานะและภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้มีทรัพย์สินและยังสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยเอาที่นาและที่สวนให้คนอื่นเช่าทำ ได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อปี โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1594 นั้น เห็นว่ามาตรา 1594 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างผู้มีสิทธิได้รับกับผู้มีหน้าที่ต้องจ่าย เช่นระหว่างภรรยากับสามีหรือระหว่างบุตรกับบิดามารดา กฎหมายจึงบัญญัติว่าผู้มีสิทธิเรียกร้องต้องเป็นผู้ไร้ทรัพย์สินและมิสามารถเลี้ยงตนเองได้ แต่คดีนี้เป็นเรื่องละเมิด ฝ่ายโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ทำละเมิดอันเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่กรรม โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม มิใช่เป็นการเรียกร้องค่าอุปการะโดยตรง กฎหมายมาตรานี้บัญญัติว่า ถ้าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจะเห็นได้ชัดว่าการเรียกร้องนี้เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนต่างหาก เมื่อบุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาตามกฎหมาย การที่บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ผู้เป็นบิดามารดาจะเป็นผู้มีทรัพย์สินมากน้อยเพียงไรและยังสามารถเลี้ยงตนเองได้หรือไม่ โจทก์ซึ่งเป็นบิดามารดาชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่จะต้องขาดไร้อุปการะนั้น และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูสูงเกินสมควรนั้น นางทองคำพยานโจทก์เบิกความว่าผู้ตายจ่ายค่าเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวผู้ตายเป็นเงินเดือนละ 500 บาท ผู้ตายมีบุตรกับนางทองคำ 3 คน แสดงว่าเงิน 500 บาทนี้ นอกจากผู้ตายจะจ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูโจทก์แล้วยังจ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูนางทองคำและบุตรอีก 3 คนด้วยศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นค่าที่ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 50,000 บาทนั้นสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 30,000 บาท คดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาแต่กรณีเป็นหนี้ร่วมซึ่งเกิดจากมูลละเมิดอันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมที่ไม่ได้ฎีกาด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้อุปการะ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสองนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share