คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงประการเดียว การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
การกระทำความผิดของจำเลยต้องตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 ซึ่งตามมาตรา 285 เป็นเรื่องที่ต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 277 วรรคสอง หนึ่งในสาม จึงหาใช้เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ กรณีไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 54 มาปรับแก่คดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 285
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 26 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 104 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 52 ปี แต่ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงประการเดียว การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 26 ปี เป็นการเพิ่มโทษจำเลย แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยก่อนแล้วจึงเพิ่มโทษ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 ซึ่งตามมาตรา 285 เป็นเรื่องที่ต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 277 วรรคสอง หนึ่งในสาม จึงหาใช่เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 มาปรับแก่คดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share