แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กฎหมายบัญญัติเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เมื่อได้ความว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรคนโตของผู้ตายไม่ค่อยได้ติดต่อกับผู้ตาย รวมทั้งไม่ได้ไปร่วมในงานบำเพ็ญกุศลของผู้ตาย โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่กับยายตั้งแต่เล็กและแต่งงานแยกครอบครัวไปตั้งแต่ปี 2509 แสดงว่าผู้ร้องค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับผู้ตาย การที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกน่าจะไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดกผู้ตาย กอปรกับผู้ร้องก็รับว่าทายาทผู้ตายมีความเห็นแตกต่างเป็นสองฝ่าย อีกทั้งผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่น่าไว้วางใจ ทำให้มีเหตุเชื่อว่าหากตั้งผู้ร้องให้ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การจัดการมรดกน่าจะไม่ราบรื่นและไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดก การตั้งผู้คัดค้านแต่ฝ่ายเดียวให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงน่าจะเหมาะสมกว่า
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกิมลุ้ย แซ่โล้ว ผู้ตาย ซึ่งเกิดจากนายเส็ง แซ่ตั้ง ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดและไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องไปติดต่อขอรับโอนทรัพย์มรดก แต่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการให้เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกก่อน ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย ทายาทของผู้ตายส่วนใหญ่ตกลงให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางพนอ คำสัมฤทธิ์ ผู้ร้อง และนางอารีย์ น้อยวงศ์ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมลุ้ย แซ่โล้ว ผู้ตาย ร่วมกัน กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางอารีย์ น้อยวงศ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายกิมลุ้ย แซ่โล้ว ผู้ตาย แต่เพียงผู้เดียว กับให้ยกคำร้องขอของนางพนอ คำสัมฤทธิ์ ผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมคือ บุตรรวม 9 คน โดยผู้ร้องเป็นบุตรคนโต ส่วนผู้คัดค้านเป็นบุตรคนที่ 5 ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายไปพักอาศัยอยู่กับนางสุวิไล แสงวัณณ์ บุตรคนที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า กฎหมายบัญญัติเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ในประการนี้ผู้ร้องเบิกความรับว่าตนเองมีรายได้จากการประกอบอาชีพเดือนละประมาณ 15,000 บาท และมีบุตรซึ่งจบการศึกษาหมดแล้ว โดยพอเป็นที่เข้าใจว่าบุตรทุกคนล้วนมีงานทำเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งแม้จะอ้างว่าไปเยี่ยมผู้ตายและมอบเงินให้ผู้ตายไว้ใช้จ่ายเสมอ แต่ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้คัดค้านว่าช่วงที่ผู้ตายพักอาศัยที่จังหวัดเชียงใหม่นาน 6 ปี พยานเพียงเคยโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วยประมาณ 2 ครั้ง และไม่ได้ส่งเงินให้ผู้ตายใช้จ่าย โดยอ้างว่าเพราะทางไกลกับรับในฎีกาว่าไม่ได้ขึ้นไปร่วมในงานบำเพ็ญกุศลศพผู้ตายที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังได้ความตามที่ผู้คัดค้านนำสืบโดยผู้ร้องมิได้ถามค้านว่า ผู้ร้องไปพักอยู่อาศัยกับยายตั้งแต่เล็กและแต่งงานแยกครอบครัวไปตั้งแต่ปี 2509 แสดงว่าผู้ร้องค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับผู้ตาย การที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกน่าจะไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดกผู้ตาย กอปรกับผู้ร้องก็รับอยู่อีกว่าทายาทผู้ตายมีความเห็นแตกต่างเป็นสองฝ่าย ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นว่าผู้คัดค้านมีนางสุวิไลและนางวราภรณ์พยานซึ่งเป็นทายาทอีกสองปากและเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่กับผู้ตายที่จังหวัดนครราชสีมาและที่จังหวัดเชียงใหม่ มาเบิกความถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่น่าไว้วางใจของผู้ร้อง ทำให้มีเหตุเชื่อว่าหากตั้งผู้ร้องให้ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การจัดการมรดกน่าจะไม่ราบรื่นและไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดก การตั้งผู้คัดค้านแต่ฝ่ายเดียวให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงน่าจะเหมาะสมกว่า ส่วนที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาประการอื่น เช่น ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์หมายจะเอาเปรียบทายาทอื่น เป็นอาทิ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องเพิ่งยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาศาลฎีกาจึงไม่อาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน